หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2557

การดูแลและรับมือกับปัญหาระยะยาวหลังจบการรักษา

การดูแลและรับมือกับปัญหาระยะยาวหลังจบการรักษา


        หลายคนที่จบการรักษาแล้วอาจยังมีความรู้สึกว่า หายจากมะเร็งแต่ยังไม่หายป่วย เพราะบางครั้งมะเร็งที่คุณเป็น การรักษาที่คุณได้รับอาจส่งผลต่อมาแม้จบสิ้นการรักษาแล้วก็ตาม โดยมากทุกสิ่งจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปไม่ว่าอาการเหล่านั้นจะลดน้อยลงไปหรือคุณสามารถรับมือกับมันได้ในที่สุด เนื้อหาในส่วนนี้จะเป็นปัญหาทางกายและจิตใจที่คนไข้ที่ประสบปัญหาส่วนมากเล่าให้ฟังและวิธีรับมือที่อาจได้ผล อย่างไรก็ตามอย่ากังวลจนเกินไป หากเปรียบเทียบกับคนไข้ที่รับการรักษาทั้งหมด โอกาสเกิดปัญหาเหล่านี้อาจน้อยมาก


คุณอาจต้องการอ่านบทความเกี่ยวกับแนวทางการติดตามการรักษาภายหลังจบสิ้นการรักษา (คลิกเพื่ออ่านต่อ)

วิธีรับมือกับปัญหาสุขภาพทางกายที่อาจรบกวนคุณ

- อ่อนเพลีย

        คนไข้หลายคนยังรู้สึกอ่อนล้า อ่อนเพลียแม้ว่าการรักษาจะเสร็จสิ้นลงไปแล้ว ในความเป็นจริงมันเป็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุดโดยเฉพาะภายในช่วงแรกๆหลังจบการรักษา การนอนพักเฉยๆมักจะไม่ช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้นมากนัก
        หลายคนอาจอยากรู้ว่ามันจะเป็นอยู่นานแค่ไหน อย่างไรก็ตามไม่มีคำตอบที่แน่นอนเพราะแต่ละคนมีปัญหาและระยะเวลาที่แตกต่างกันไป หลายคนจึงอาจกังวลหรือหงุดหงิดใจที่อาการอ่อนเพลียของคุณมันดูยาวนานกว่าที่คุณคาดคิดไว้ บางคนอาจมีปัญหามากกว่ากับการกังวลว่าคนอื่นๆจะไม่เข้าใจในความอ่อนเพลียที่เกิดขึ้นทั้งที่จบการรักษาไปแล้ว บางคนอาจกลัวว่าเจ้านายอาจไม่ชอบใจนักจนยิ่งทำให้ร่างกายคุณอ่อนล้าจากความเครียด

วิธีรับมือ

- ปรึกษาแพทย์ถึงสาเหตุทางการแพทย์ที่อาจทำให้คุณมีอาการอ่อนเพลีย

- วางแผนในการทำงานแต่ละวันให้เหมาะกับกำลังที่คุณมี

- อะไรที่ไม่จำเป็นนักก็ปล่อยวางมันไป อย่าเพิ่งรีบทำ

- หาเวลางีบสั้นๆไม่เกิน 30 นาทีระหว่างวัน และหาเวลาพักสั้นๆระหว่างกิจกรรมหนักๆ

- พยายามหลับและตื่นเป็นเวลาเสมอ แม้เมื่อคืนคุณอาจจะนอนไม่ค่อยหลับก็ตาม

- ปล่อยหรือขอให้คนอื่นเขาช่วยคุณบ้าง หลายอย่างนั้นคุณสามารถให้เขาช่วยเหลือคุณได้ บางครั้งคนในครอบครัวหรือเพื่อนของคุณพร้อมและยินดีที่จะช่วยเพียงแต่เขาไม่รู้ว่าจะช่วยคุณได้อย่างไร

- ปรับกิจกรรมให้ใช้กำลังน้อยลงเช่น หาเครื่องทุ่นแรง หรือแม้แต่หาเก้าอี้นั่งระหว่างเตรียมอาหาร

- ทำในสิ่งที่ชอบแต่อย่ามากเกินไป ลองมองหางานอดิเรกที่คุณชอบแต่ใช้แรงน้อยลงกว่าเดิม

- กินให้พอเพียงทั้งน้ำและอาหาร บางครั้งคุณอาจจะทานได้น้อยกว่าที่ร่างกายต้องการให้มันแข็งแรง


- ปัญหาเรื่องสมาธิและความจำ

        คนไข้ราวๆหนึ่งในสี่พบว่าหลังการรักษาเสร็จสิ้นแล้วเขาเหล่านั้นมีปัญหาเรื่องความจำ ความคิด และสมาธิ หลายคนบรรยายว่ามีอาการหลงลืม ขี้ลืม บางคนบอกว่าพูดติดๆขัดๆเพราะนึกคำที่ต้องการไม่ออก บางคนอาจบอกว่าไม่สามารถทำงานที่ใช้สมาธินานๆได้ดีเหมือนเดิม บางครั้งก็อาจแยกยากระหว่างปัญหาจากอายุที่เพิ่มขึ้นหรือผลจากการรักษา
        บางครั้งคุณอาจกังวลว่ามันเป็นผลจากปัญหาอื่นๆเช่น นอนไม่หลับ เครียด หรืออาจคิดว่าเป็นผลจากยาบางตัวที่คุณยังต้องทานต่อเนื่อง เป็นการดีที่สุดที่คุณจะปรึกษาแพทย์ถึงสาเหตุทางการแพทย์ที่เป็นไปได้และแก้ไขได้

วิธีรับมือ

- หาบันทึกช่วยจำ ลองหาปฏิทินตั้งโต๊ะหรือสมุดบันทึกสักเล่มคอยจดสิ่งที่คุณต้องทำ อย่าลืมทำให้มันง่ายและเป็นไปได้ที่จะทำได้หมด

- หาสิ่งช่วยเตือน เช่นกระดาษโน้ตใบเล็กๆแปะตามจุดที่คุณต้องผ่านบ่อยๆเช่นหน้าประตูหรือตู้เย็นเพื่อเตือนกันลืมถึงสิ่งที่สำคัญ

- ทบทวนกับตัวเองระหว่างที่ทำงานนั้นๆ เช่นบอกกับตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่บ้าง

- ลดความเครียดลงซะ ความเครียดทั้งทางกายและใจทำให้สมองคุณทำงานได้แย่ลงกว่าที่ควรจะเป็น พยายามหาทางผ่อนคลายแม้ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด

- ทบทวนสิ่งที่ต้องทำเช่น ชื่องาน วันเวลา และสิ่งสำคัญก่อนจะเริ่มทำงานนั้นๆ รวมไปถึงเวลาจะไปซื้อของ หรือ ไปเที่ยว


- อาการปวด

        แม้การรักษาจะเสร็จสิ้นไปแล้วแต่คนไข้จำนวนไม่น้อยที่ยังมีปัญหาเรื่องอาการปวดมารบกวน อาการเจ็บปวดเหล่านั้นอาจเกิดจากแผลผ่าตัด อาจเกิดจากยาเคมีบำบัดบางชนิด หรืออาจเกิดจากการที่ถูกตัดอวัยวะออกไปโดยเฉพาะแขนหรือขา
        การรักษาอาการเจ็บปวดไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอ หลายคนอาจกังวลว่าการกินยาอาจนำไปสู่การติดยาหรือผลข้างเคียงระยะยาว ในความเป็นจริงโอกาสติดยาหรือเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงนั้นเกิดขึ้นได้น้อยมากหากคุณกินตามที่แพทย์สั่งอย่างถูกต้อง
        นอกจากยาแก้ปวดบางครั้งคุณอาจได้ยาต้านอาการซึมเศร้าหรือยากันชัก ยาเหล่านั้นอาจช่วยลดอาการเจ็บปวดโดยเฉพาะอาการเจ็บปวดที่เกิดจากเส้นประสาท
        การกายภาพบำบัดเช่น ใช้ความร้อน ความเย็น นวด หรือการดามอวัยวะที่เจ็บปวดเวลาขยับก็อาจช่วยเสริมให้อาการปวดคุณบรรเทาลงได้ดี
        บางครั้งการผ่อนคลายหรือออกกำลังกายเบาๆ รวมไปถึงโยคะ นั่งสมาธิ ก็อาจช่วยลดอาการปวดได้ทั้งทางตรงและผ่านการลดความเครียดโดยทางอ้อม

วิธีการรับมือ

- กินยาให้ถูกต้องและตรงเวลา

- เลือกการรักษาเสริมที่เหมาะกับคุณ

- จดบันทึกอาการปวดและนำไปพร้อมกับคุณเมื่อถึงเวลาพบแพทย์


การจดบันทึกอาการปวดอย่างมืออาชีพ 
ช่วยในการควบคุมอาการปวด
- บรรยายระดับความปวดมากน้อยด้วยคะแนนตัวเลข โดยให้ 0 หากคุณไม่รู้สึกปวด และให้ 10 สำหรับอาการปวดที่คุณคิดว่ามากที่สุดที่เป็นไปได้ หากมีการกินยาหรือรักษาควรบันทึกทั้งก่อนและหลังเพื่อดูการตอบสนองด้วย 
- บรรยายลักษณะอาการปวด เช่น ปวดแปล๊บๆเหมือนไฟช็อต ปวดตื้อๆ ปวดแสบๆ 
- ระบุตำแหน่งที่ปวดมากที่สุดในขณะนั้น  
- จดบันทึกยาแก้ปวดที่กินและผลของมัน (ใช้ระบบคะแนนจะเห็นภาพชัดกว่าบอกว่าดีขึ้น) 
- จดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นแม้ว่ามันอาจจะเกี่ยวหรือไม่น่าจะเกี่ยวกับยาก็ตาม 
- จดทั้งหมดนี้ในปฏิทินหรือไดอารี่จะช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลง และรูปแบบที่อาจช่วยในการหาสาเหตุหรือแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดที่สุด


- บวมน้ำเหลือง (เช่นแขนขาบวม)

        อาการบวมน้ำเหลืองมักพบในลักษณะแขนหรือขาบวม อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้าง มักเป็นผลโดยตรงจากการผ่าตัดและหรือฉายแสง หรือ อาจเกิดจากตัวโรคมะเร็งเอง โรคมะเร็งที่พบบ่อยได้แก่มะเร็งเต้านมโดยเฉพาะรายที่เลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมด มะเร็งในอุ้งเชิงกรานที่มีการตัดต่อมน้ำเหลืองหรือฉายแสง
        อาการบวมอาจเป็นเพียงเล็กน้อยแต่บางคนก็อาจบวมมากจนปวด อาการบวมมักเป็นมากขึ้นเมื่อใช้งานหนักๆหรือได้รับบาดเจ็บ

วิธีรับมือ

- ปรึกษากับแพทย์ถึงวิธีออกกำลังกายที่เหมาะและไม่เหมาะกับคุณ

- ดูแลผิวหนังอย่าให้แห้ง แข็ง แตกเป็นขุย

- วางส่วนที่บวมให้อยู่เหนือตัวในบางเวลาเช่น เวลานอนหาผ้ามารองให้มันอยู่สูงกว่าตัวเล็กน้อย

- สวมผ้าที่รัดหลวมๆในบริเวณที่บวม ระวังอย่าให้แน่นจนเป็นรอย

- ระวังอย่าให้เกิดบาดแผล บาดเจ็บ เช่นของมีคม หรือ ของร้อนๆ

- หากเกิดสัญญาณเตือนของการติดเชื้อเช่น บวมมากขึ้นร่วมกับ ผิวแดงๆ ร้อนๆ หรือมีไข้ ควรไปพบแพทย์ทันที


- ปัญหาในช่องปากและการกิน

        คนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดและหรือการฉายแสงในบริเวณช่องปากและลำคออาจพบปัญหาในช่องปากเช่น ปากแห้ง น้ำลายแห้ง รสชาติเปลี่ยน หรือ กลืนลำบาก บางครั้งอาจเป็นปัญหาไปนานหลายปีหลังจบการรักษา

วิธีรับมือ

- รักษาความชุ่มชื้นในปากด้วยการ จิบน้ำบ่อยๆ อมน้ำแข็ง ลูกอมรสมินต์ที่ไม่มีน้ำตาล หรือใช้น้ำลายเทียม

- รักษาความสะอาดในช่องปาก ด้วยแปรงที่อ่อนนุ่มเป็นพิเศษร่วมกับยาสีฟันที่ไม่ระคายเคืองในช่องปาก

- ใช่ไหนขัดฟันทุกวัน หากมีบริเวณที่เจ็บหรือเลือดออกให้เลี่ยงบริเวณนั้นไปก่อน

- บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆแล้วตามด้วยน้ำเปล่า เลี่ยงน้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ผสม

- ถ้ามีฟันปลอมควรตรวจเช็คว่ามันแน่นพอเหมาะหรือไม่ ลดเวลาการใช้ลงเท่าที่จำเป็น

- ระวังอาหารทอดแข็งๆ อาหารรสจัดจ้าน จะทำให้แสบช่องปาก และ ระวังของหวานเพราะจะทำให้ฟันผุง่าย

- หากกลืนลำบาก ฝืดคอ พยายามทานอาหารนุ่มๆ จิบน้ำหรือซุปบ่อยๆ ของแข็งๆบางอย่างอาจปั่นให้ละเอียดก่อนก็จะกลืนง่ายขึ้น


- ปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว

        คนไข้จำนวนมากมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังจบการรักษา อย่าลืมว่าน้ำหนักตัวที่เหมาะสมนำไปสู่สุขภาพที่ดี การควบคุมน้ำหนักอาจเป็นปัญหาได้มากโดยเฉพาะวิธีจำกัดพลังงาน(กินให้น้อยลง) ทางที่ดีกว่าคือการกินอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายเพื่อเสริมกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
        ในทางกลับกันคนไข้บางส่วนกลับมีปัญหาน้ำหนักตัวที่น้อยเกินไป มักพบจากการคุมอาหารอย่างหนักเพราะเชื่อว่ามันจะป้องกันมะเร็งไม่ให้กลับมาได้ ในความเป็นจริงคนที่มีน้ำหนักตัวเหมาะสมและทานอาหารครบหมู่จะมีสุขภาพที่แข็งแรงกว่าและมีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่า


- ปัญหาเรื่องเกี่ยวกับประจำเดือน

        การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือยาต้านฮอร์โมนอาจทำให้ผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนอยู่มีประจำเดือนที่ผิดปกติไป โดยมากจะเป็นในลักษณะประจำเดือนไม่มา นอกจากประจำเดือนที่ไม่มาหลายคนประสบปัญหากับอาการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือที่นิยมเรียกกันว่า อาการวัยทอง
        หากคุณอายุน้อย คุณก็จะมีโอกาสมากกว่าคนที่อายุมากที่ประจำเดือนจะกลับมาปกติในที่สุด อย่างไรก็ตามอย่าลืมคุมกำเนิดหากคุณยังไม่ได้มีแผนจะมีลูกแม้ว่าประจำเดือนจะยังไม่มา
        อาการวัยทองที่อาจพบได้ ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบมักเป็นมากตอนกลางคืนจนบางคนอาจมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ หรือ หงุดหงิดง่าย บางคนอาจมีปัญหากับสุขภาพช่องคลอดเช่น แห้ง ติดเชื้อง่าย บางคนอาจหมดความต้องการทางเพศ บางคนอาจหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน

วิธีรับมือ

    แม้ว่าอาการเหล่านี้มักจะเป็นอยู่ไม่นานในผู้หญิงส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามวิธีเหล่านี้อาจช่วยลดปัญหาของอาการหมดประจำเดือนได้

- ดื่มน้ำมากๆ จะช่วยลดอาการร้อนวูบวาบได้

- สวมใส่ชุดที่บางเบาและอากาศถ่ายเทได้ดี

- เลี่ยงอาการรสเผ็ด แอลกอฮอล์ และ กาแฟ

- ปรึกษากับสูตินารีแพทย์ เพื่อเช็คสุขภาพของผู้หญิงและแก้ปัญหา

- ปรึกษากับแพทย์เรื่องกระดูกพรุนและโรคหัวใจซึ่งอาจพบได้มากขึ้นในคนที่หมดประจำเดือนเร็ว

- ออกกำลังกาย คุมอาหาร จะช่วยทั้งเรื่องกระดูกพรุนและเรื่องหัวใจ


- ปัญหาเรื่องชีวิตคู่

        ปัญหาเรื่องชีวิตคู่เป็นปัญหาที่ได้รับการปรึกษาน้อยมาก อาจเพราะบริบทของสังคมไทยที่ทำให้ปัญหานี้มักถูกซุกไว้ใต้พรม อย่างไรก็ตามมันเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อจิตใจค่อนข้างมาก
        การรักษาโรคมะเร็งที่ผ่านมาอาจทำให้ชีวิตแตกต่างไปจากเดิม หลายคนกังวลถึงร่องรอยของการรักษาเช่นแผลเป็นต่างๆ หรือ การเปิดลำไส้ไว้ตรงหน้าท้อง สายยางหน้าท้อง หลายคนกังวลถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเช่นแผลผ่าตัด หลายคนอาจเกิดปัญหากับความต้องการทางเพศที่ลดลง หรือการมีเพศสัมพันธ์สร้างปัญหาเช่นความเจ็บปวด
        สิ่งที่สำคัญคือการเรียนรู้และพูดคุยกัน หลายคนกังวลถึงความสัมพันธ์ว่าอาจจะเปลี่ยนไปเมื่อมีการพูดคุย อย่าไรก็ตามปัญหาทางกายจากการรักษานั้นไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของการหย่าร้างในคนที่เป็นมะเร็ง ความไม่เข้าใจกันอาจสร้างปัญหาได้มากกว่า
        การพูดคุยควรพูดถึงความรู้สึกอย่างเปิดอก พูดถึงสิ่งที่คุณรู้สึก และ สิ่งที่คุณอยากให้มันเป็น สิ่งที่คุณกังวล และรอฟังความเห็นจากคู่ของคุณ พยายามหลีกเลี่ยงความเห็นในเชิงตำหนิ
        การปรึกษากับแพทย์อาจช่วยคุณแก้ปัญหาบางอย่างได้ อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ไม่ได้มีเพียงแค่ความสัมพันธ์ทางเพศ การสัมผัส โอบกอด จูบ ก็สร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้ อย่าปิดกั้นโอกาสที่จะหาทางออกใหม่ๆให้กับชีวิตคู่ของคุณ
      
        สำหรับคนที่ยังโสดอาจพบว่าการคิดถึงเรื่องชีวิตคู่เป็นเรื่องยากลำบาก หลายคนอาจกังวลกับร่างกายหรืออนาคตที่ไม่แน่นอน คุณอาจไม่รู้จะบอกกับคนที่คุณกำลังคบหาอย่างไรถึงเรื่องมะเร็งของคุณ บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันยากแม้กระทั่งการเข้าสังคมโดยไม่เกี่ยวกับเรื่องชีวิตคู่
        ลองเริ่มจากกิจกรรมที่คุณชอบ เช่นเข้าคลาสหรือร่วมกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เปิดโอกาสให้ตัวเองอย่ายอมให้คำว่ามะเร็งเป็นสาเหตุหลักที่คุณปิดตัวเอง จากนั้นรอจนกระทั่งความสัมพันธ์หรือมิตรภาพนั้นมั่นคงพอก่อนจะบอกถึงเรื่องมะเร็งของคุณ การซ้อมบอกและเตรียมรับมือกับปฏิกิริยาต่างๆอาจช่วยคุณได้ สุดท้ายหากเป็นคนรักของคุณ คิดไว้เสมอว่าไม่ใช่ทุกคู่จะสมหวัง หากใครบางคนปฏิเสธคุณมันก็ไม่ใช่ความผิดของคุณหรือมะเร็งแต่เป็นเพียงว่ามันยังไม่ใช่เหมือนกับคนอีกมากมายที่ไม่ได้เป็นมะเร็งก็ถูกปฏิเสธได้เช่นกัน



วิธีรับมือกับปัญหาสุขภาพทางจิตใจที่อาจรบกวนคุณ

        เช่นเดียวกับทุกช่วงเวลาของการรักษาโรคมะเร็ง อารมณ์และความรู้สึกต่างๆอาจหมุนเวียนกันมาบั่นทอนจิตใจของคุณ แม้ความกังวลต่อความยากลำบากของการรักษาจะสิ้นสุดลงไปแล้ว คนไข้ส่วนมากพบว่าเขากำลังเผชิญกับปัญหาใหม่นั่นคือ ความกลัวที่ว่ามะเร็งมีโอกาสจะกลับมาได้อีก ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใดที่มันจะสร้างปัญหาให้กับคุณได้
        ประสบการณ์ในชีวิตของแต่ละคนจะสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคุณออกมาเป็นอารมณ์ต่างๆ หลายคนอาจแข็งแกร่งขึ้นได้เอง หลายคนอาจต้องพึ่งพิงคนที่รักในการก้าวผ่านจุดที่ยากเหล่านี้ ไม่ว่าอย่างไรมันไม่มีประโยชน์ที่จะไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเพราะเราทุกคนนั้นแตกต่างกัน

- กังวลถึงเรื่องสุขภาพของคุณ

       การกังวลว่ามะเร็งจะกลับมาสร้างปัญหาให้คุณนั้นเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเปลี่ยนผ่านจากการรักษามาเป็นการติดตามการรักษาในปีแรกๆ ความกังวลนี้อาจมากพอที่จะเปลี่ยนเป็นความกลัวในการใช้ชีวิตเสียจนหลายคนๆไม่มีความสุขในชีวิต เมื่อเวลาผ่านไปคนไข้ส่วนใหญ่จะเริ่มคิดถึงมันน้อยลงแต่ไม่ว่านานแค่ไหนความรู้สึกนี้ก็ยากจะหมดไปจากใจ ยิ่งเมื่อใกล้วันนัดก็ยิ่งกังวลมาก

วิธีรับมือ

- เรียนรู้ในสิ่งที่มันอาจจะเกิดขึ้น บางคนอาจกลัวจนไม่ขอรับรู้ใดๆ แต่เราพบว่าการที่คุณรู้ว่าจะต้องเผชิญอะไรบ้างและรู้ว่าแผนการติดตามรักษาเป็นอย่างไรช่วยลดความกังวลและทำให้คุณรู้สึกมั่นใจกับปัญหามากขึ้น
- ระบายความรู้สึกของคุณออกมา คนส่วนใหญ่พบว่าเมื่อได้ระบายความรู้สึกออกมามันช่วยลดผลกระทบของความรู้สึกนั้นลงได้ คุณอาจเลือกที่จะระบายมันกับคนในครอบครัวหรือเขียนลงสมุดของคุณ
- คิดบวก คิดในทางที่ดีอยู่เสมอ ตั้งความหวังไว้ในสิ่งที่เป็นจริง พยายามเปลี่ยนความกังวลของคุณให้ออกมาเป็นความพยายามที่จะทำสุขภาพของคุณให้ดีที่สุด
- อย่าโทษตัวเอง คุณไม่ได้ทำให้ตัวคุณเองเป็นมะเร็งและสิ่งที่คุณเลือกทำก็ไม่ได้มีผลต่อมะเร็งหากมันจะกลับมา มันเกิดขึ้นได้กับทุกคน
- ไม่จำเป็นที่จะต้องร่าเริงตลอดเวลา การพยายามฝืนร่าเริงทั้งที่มันเป็นเวลาที่แย่จะยิ่งทำให้ความรู้สึกคุณแย่ลงมากขึ้น ปล่อยความรู้สึกที่แท้จริงออกมาจะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้เร็วกว่า
- พยายามทำในสิ่งที่คุณทำได้และชอบทำ การที่คุณสามารถทำอะไรที่คุณต้องการก็ตามได้นั้นทำให้ตัวคุณเองมีความมั่นใจต่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนมากขึ้นได้

- เครียด

        ความเครียดเข้ามาวุ่นวายนับตั้งแต่คุณทราบว่าเป็นมะเร็ง เพียงแต่คุณอาจไม่รู้ตัว ยิ่งการรักษาที่ยากลำบากคุณอาจจะยิ่งเครียด เมื่อถึงเวลาที่สิ้นสุดการรักษามันก็ควรจะถึงเวลาที่คุณจะผ่อนคลายความเครียดที่มี ไม่เช่นนั้นมันอาจกระทบเข้ามาสู่ชีวิตของคุณได้

วิธีรับมือ

- ผ่อนคลายตัวคุณเอง หลายคนหมกมุ่นอยู่กับการทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่างเพราะเชื่อว่ามันจะลดโอกาสที่มะเร็งจะกลับมา แต่กลับพบว่าความพยายามเหล่านั้นกำลังทำลายคุณค่าของชีวิตที่เหลืออยู่ คงไม่มีวิธีการใดที่ดีหากมันทำให้ทั้งชีวิตคุณจมอยู่กับความเครียดจนเกินเหตุ
- ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ดีที่จะลดความเครียดลงไปได้ไม่ว่าคุณจะเป็นมะเร็งหรือไม่ก็ตาม ลองปรึกษากับแพทย์ของคุณว่าการออกกำลังกายใดจะเหมาะกับคุณ อย่าหักโหมเกินไปการทำไม่ได้ตามเป้าก็สามารถสร้างความเครียดให้คุณได้
- ผ่อนคลายจิตใจ การนั่งสมาธิ ฟังเพลง วาดรูป ช่วยให้จิตใจคุณผ่อนคลายจากความเครียดลงได้
- แบ่งปันประสบการณ์ การแบ่งปันเรื่องราวให้แก่กันและกันบางครั้งช่วยผ่อนคลายความเครียดที่มีต่อโรคมะเร็งได้

- ภาวะซึมเศร้า

        หลายอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงเช่น เครียด กังวล โกรธ อาจเกิดขึ้นอย่างรวมเร็วแต่ก็มักจะจางหายไปตามเวลา ในขณะที่อารมณ์ซึมเศร้าอาจค่อยๆก่อตัวและสร้างปัญหาในระยะยาว ปัญหาจากตัวโรคมะเร็งและการรักษาอาจจะยังสร้างปัญหาต่อเนื่อง ปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน ปัญหาจากการปรับตัวในระดับต่างๆเช่นที่บ้าน ที่ทำงาน สังคม เหล่านี้อาจรุมเร้าให้ภาวะซึมเศร้ารุนแรงขึ้นมาได้ตามเวลาที่ผ่านไป
        อาการซึมเศร้าเป็นปัญหาสำคัญที่คุณควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจส่งผลให้การใช้ชีวิตต่อไปนั้นยากลำบาก ไม่มีความสุข การรักษาอาจเป็นการแก้ปัญหาที่รบกวนคุณอยู่ อาจเป็นยาที่ช่วยให้อาการดีขึ้น หรือ อาจเป็นการบำบัดที่ช่วยให้คุณผ่านพ้นปัญหาต่างๆได้

คุณกำลังเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ 
หากคุณมีอาการเหล่านี้เกินสองสัปดาห์คุณควรพบแพทย์ 
- รู้สึกเศร้าอยู่ตลอดเวลา 
- ไม่สนใจต่อสิ่งรอบข้าง 
- รู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมปัญหาอะไรได้ 
- รู้สึกผิดหรือไร้ค่า สิ้นหวัง 
- ไม่มีสมาธิ 
- ร้องไห้บ่อยครั้งหรือเป็นเวลานาน 
- ไม่สามารถสลัดปัญหาออกไปจากความคิดได้ 
- พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ต่างๆแม้ว่ามันจะไม่ได้อันตราย 
- คิดที่จะทำร้ายตนเองหรือคิดฆ่าตัวตาย 
- น้ำหนักเพิ่มหรือลดอย่างไม่มีสาเหตุชัดเจน 
- นอนไม่หลับหรือนอนหลับมากเกินไป 
- รู้สึกร่างกายผิดปกติเช่นอ่อนล้า ท้องผูกท้องเสียนานๆ


- โกรธ

        หลังจบการรักษาคุณอาจจะยังโกรธที่คุณต้องมาเป็นมะเร็ง คุณอาจจะไม่พอใจทีมที่ดูแลรักษา คุณอาจจะหงุดหงิดที่รู้สึกควบคุมอนาคตตอเองไม่ได้ เช่น หงุดหงิดที่ไม่สามารถทำอะไรที่ป้องกันมะเร็งได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางทีคุณอาจจะโกรธที่ใครบางคนไม่ยอมช่วยเหลืออย่างที่คุณต้องการ
        ความโกรธเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ แต่คุณไม่ควรจะปล่อยให้มันมาอยู่เหนือตัวคุณเอง มองหาสาเหตุและรีบแก้ไข บางครั้งคุณอาจใช้พลังจากความโกรธไปในทางที่สร้างสรรค์ เช่น ใช้เป็นกำลังใจในสิ่งที่ทำได้ยาก หรือ ใช้ในการออกกำลังกายแทนการระบายไปสู่บุคคลอื่นๆ

- อ้างว้างโดดเดี่ยว

        ตลอดช่วงหลายเดือนของการรักษา ทีมแพทย์ที่ดูแลได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตคุณอย่างมาก และแล้ววันหนึ่งเมื่อการรักษาเสร็จสิ้นคุณอาจจะรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวขาดความมั่นใจที่จะเดินหน้าไปต่อ มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นปกติเมื่อคุณต้องหากจากคนที่มีความหมายกับคุณมากๆ บางครั้งความรู้สึกนี้อาจเกิดขึ้นกับเพื่อนของคุณที่เข้ามาดูแลในช่วงที่คุณรับการรักษาและเตรียมพร้อมจะจากไปใช้ชีวิตขอบเขา
         หนทางหนึ่งที่อาจช่วยได้คือขอหนทางการติดต่อกับทีมแพทย์ที่ดูแลคุณ แม้จะไม่ได้ติดต่อไปแต่แค่รู้ว่าคุณสามารถติดต่อไปได้เมื่อจำเป็นก็อาจช่วยให้คุณอุ่นใจได้ นอกจากนี้คุณอาจเริ่มมองหาความช่วยเหลือใหม่ๆที่จะมาจัดการกับปัญหาทางสุขภาพที่เหลืออยู่ และอีกวิธีที่ดีคือการพูดคุยกับผู้คนที่ประสพปัญหาเดียวกันจะช่วยกันและกันได้มากทีเดียว



- ปัญหาเรื่องสังคมและความสัมพันธ์

        การเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งอาจทำให้ความสัมพันธ์ของคุณกับบุคคลอื่นๆรอบข้างเปลี่ยนไปเช่นคนในครอบครัว เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ซึ่งอาจเกิดได้จากความไม่เข้าใจกัน ปัญหาเฉพาะบุคคล หรืออื่นๆ
        คุณอาจพบว่าบางครั้งคุณได้รับความช่วยเหลือเกินจำเป็นและมันทำให้คุณอึดอัดแต่ก็ลำบากใจที่จะบอก บางครั้งคุณอาจรู้สึกว่าคุณได้รับความช่วยเหลือน้อยกว่าที่ควรและมันกำลังบั่นทอนกำลังกายและกำลังใจของคุณอยู่ จึงเป็นการดีที่จะเริ่มการมองปัญหาและแก้ไขมันอย่างที่ควรจะเป็น

คำแนะนำหากคนนั้นๆเป็น

- คนในครอบครัว และเพื่อน
        คุณอาจคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนในครอบครัวคุณจะเข้าใจคุณมากที่สุด ในความเป็นจริงบางเรื่องก็ยากเกินกว่าจะเข้าใจได้เอง บางเรื่องก็ถูกความคาดหวังที่มากเกินไปบดบังให้คุณรู้สึกว่าไม่เข้าใจ อย่างไรก็ตามปัญหาโดยมากจะเกิดเพราะคนในครอบครัวหรือเพื่อนของคุณไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ จึงควรเปิดใจพูดคุยถึงสิ่งที่คุณเป็น สิ่งที่คุณต้องการ ในขณะเดียวกันก็ควรพร้อมรับฟังสิ่งที่คนในครอบครัวหรือเพื่อนของคุณคิดและรู้สึกเช่นกัน เพราะเขาเหล่านั้นก็อาจกำลังรู้สึกลำบากที่จะพูดคุยกับคุณ
        หากคนในครอบครัวนั้นเป็นเด็ก สิ่งที่อาจช่วยได้ก็คือ ตรงไปตรงมากับเขาอย่าปิดบัง ให้เขามีส่วนร่วมรับรู้ในสิ่งที่คุณเป็น ใช้เวลากับเขาให้นานขึ้น
        หากเพื่อนของคุณบางคนไม่สามารถไปด้วยกันต่อไปได้ก็คงต้องปล่อยให้เป็นไป แม้มันจะยากแต่ในขณะเดียวกันคุณอาจพบเพื่อนแท้ของคุณนั้นมีมากมายและพร้อมจะเข้าใจคุณ

- เพื่อนร่วมงาน และ เจ้านาย
        สำหรับหลายคนอาจเป็นเรื่องยากที่จะต้องกลับไปทำงาน ไม่ใช่เพราะข้อจำกัดทางด้านร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ของคุณกับเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย ไม่ใช่ทุกคนที่จะช่วยเหลือคุณอย่างไรก็ตาม สำหรับหลายคนอาจได้แต่มองอยู่ห่างๆเพราะกังวลว่าจะช่วยเหลือคุณได้อย่างไรไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากช่วยเหลือคุณ
        ในขณะเดียวกันคุณอาจกังวลว่างานของคุณอาจจะไม่มีความก้าวหน้าเพราะการที่คุณเคยเป็นมะเร็ง เจ้านายคุณอาจจะลังเลที่จะปฏิบัติต่อคุณอย่างยุติธรรมพอ อาจกลัวว่าคุณไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม อย่างไรก็ตามความจริงแล้วคนไข้ที่ผ่านพ้นมะเร็งมาได้ส่วนมากสามารถทำงานได้ไม่ต่างจากคนที่ไม่เคยเป็นมะเร็ง
        ดังนั้นคุณควรจะทำความเข้าใจกับเพื่อนร่วมงานและเจ้านายของคุณถึงสิ่งที่คุณเป็นปัญหาและข้อจำกัดของคุณ สิ่งที่คนอื่นๆอาจจะช่วยคุณได้ ส่วนวิธีการก็คงแล้วแต่สิ่งที่คุณถนัด หลายคนพบว่าการพูดทั้งหมดตรงๆคือสิ่งที่เขาถนัด ในขณะที่หลายคนอาจจะสะดวกกว่าที่จะหลีกเลี่ยงการพูดถึงมะเร็งตรงๆอย่างไรก็ตามก็อย่าลืมแสดงให้คนอื่นเข้าใจความรู้สึกของคุณและความต้องการของคุณ



- ค้นหาเป้าหมายในชีวิต

        คนส่วนใหญ่จะพอใจกับการเสร็จสิ้นการรักษาไม่ว่าจะแค่ทำให้โรคมะเร็งสงบลงชั่วคราว หรือ ในหลายๆคนมันคือการกำจัดมะเร็งออกไป เขาเหล่านั้นจะมีมุมมองของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปโดยมากมักจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีความสุขกับชีวิตมากขึ้น แต่อีกหลายคนกลับมีมุมมองต่อชีวิตเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม หลายคนกลับขาดเป้าหมายในชีวิตไป หมดความสนใจที่จะทำงานหรือแม้กระทั่งทำอะไรก็ตามที่เคยชอบ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้เป็นปกติ โดยเฉพาะกับคนที่ผ่านเรื่องร้ายๆในชีวิตมา การค้นหาเป้าหมายของชีวิตจึงเป็นจุดเริ่มที่สำคัญที่จะทำให้เราก้าวต่อไปได้
        ลองมองหาสิ่งที่สำคัญกับคุณและเริ่มตั้งเป้าหมายเพื่อสิ่งที่สำคัญของคุณไม่ว่าจะเป็นตัวคุณเอง ครอบครัวของคุณ หรืออะไรก็ตาม ก้าวเดินต่อไป ใช้ชีวิตต่อไปเพื่อสิ่งที่สำคัญเหล่านั้น หากคุณยังไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรต่อไปลองปรึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาของคุณ เขาเหล่านั้นอาจช่วยชี้ทางให้กับคุณได้ในยามที่คุณไม่แน่ใจ
        สุดท้ายคุณอาจลองใช้เวลาสักระยะอุทิศตนเพื่อคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการกุศล กิจกรรมเพื่อผู้ป่วยต่างๆโดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง ในที่สุดคุณก็จะได้ช่วยเหลือและให้คนอื่นช่วยเหลือคุณในการค้นหาเป้าหมายต่อไปได้


คุณอาจต้องการอ่านบทความเกี่ยวกับแนวทางการติดตามการรักษาภายหลังจบสิ้นการรักษา (คลิกเพื่ออ่านต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น