หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2557

ผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดที่พบบ่อยและวิธีรับมือ ตอนที่ 1

ผลข้างเคียงทางกายที่พบบ่อยและวิธีรับมือ ตอนที่ 1

ในบทความนี้จะกล่าวถึงผลข้างเคียงและวิธีรับมือในปัญหาดังนี้
1 อ่อนเพลีย
2 คลื่นไส้และอาเจียน
3 เบื่ออาหาร
4 ผมร่วง
5 การขับถ่าย(ท้องผูกและท้องเสีย)


คุณอาจอยากจะข้ามไปอ่านปัญหาต่อไปนี้ก่อน ในตอนที่ 2 (คลิกเพื่ออ่านต่อ)
6 ไข้และภาวะการติดเชื้อ
7 ปัญหาในช่องปากและลำคอ
8 ปัญหาของผิวหนังและเล็บ
9 ปัญหาต่อปลายประสาท
10 ปัญหาต่อการมีบุตร
11 ปัญหาสุขภาพทางเพศ

หรือคุณอาจต้องการรับทราบข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผลข้างเคียง (คลิกเพื่ออ่านต่อ)


1 อ่อนเพลีย

        อาการอ่อนเพลียเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยอาจรู้สึกตั้งแต่อ่อนเพลียเล็กน้อยไปจนถึงขั้นหมดเรี่ยวหมดแรง ผู้ป่วยมักจะบรรยายออกมาเป็นความรู้สึก เหนื่อย เพลีย ล้า หมดแรง การนอนพักอาจไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้นเสมอไป บางคนอาจเป็นระยะสั้นๆเพียงไม่กี่วันหลังจากการให้ยาในขณะที่บางคนอาจมีอาการดีขึ้นแต่ยังเพลียอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์ บางครั้งอาการอ่อนเพลียก็อาจจะไม่ได้มาจากยาโดยตรงแต่อาจมาจากการที่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อยครั้ง ปัญหาอื่นๆที่อาจส่งเสริมให้มีอาการอ่อนเพลียเช่น ซีดหรือเลือดจาง ปวด ยาบางตัวที่ไม่ใช่ยาเคมีบำบัด รับประทานอาหารได้น้อย นอนไม่พอเพียง การติดเชื้อ การที่นอนพักมากเกินไป หรือจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ

วิธีการรับมือ

- ผ่อนคลาย หาวิธีที่เหมาะสมกับคุณในการผ่อนคลายความตึงเครียดจะช่วยลดอาการอ่อนล้าลงได้ หลายคนพบว่าการทำสมาธิ สวดมนต์ โยคะ วาดรูป ฟังเพลงช่วยผ่อนคลายเขาเหล่านั้นได้

- ดื่มและกินให้พอเพียง คุณควรดื่มน้ำให้พอเพียงอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน และทานอาหารให้พอกับร่างกายต้องการซึ่งบางครั้งคุณอาจจะต้องทานวันละ 5-6 มื้อ การเตรียมอาหารที่พร้อมทานไว้เสมออาจช่วยให้คุณกินอาหารได้พอเพียง

- วางแผนการนอนหลับให้ดี วางแผนการนอนพักให้ดี บางครั้งการนอนพักกลางวันนานๆอาจรบกวนการนอนตอนกลางคืน ผู้ป่วยส่วนมากพบว่าการงีบสั้นๆเพียง 10นาทีแต่ไม่เกิน 1 ชั่วโมงให้ผลดีกว่าการนอนนานๆในเวลากลางวัน

- ทำตัวให้กระฉับกระเฉง การออกกำลังกายเบาๆช่วยให้คุณอ่อนเพลียน้อยลงและนอนหลับดีขึ้น คุณอาจเดินสัก 15 นาที ทำโยคะ ปั่นจักรยานออกกำลังกายสั้นๆ ในช่วงเวลาของวันที่คุณรู้สึกมีเรี่ยวแรงมากที่สุด ในทางกลับกันหากคุณเอาแต่นอนเฉยๆคุณอาจจะยิ่งรู้สึกเพลียมากขึ้น

- พยายามทำให้พอดีๆ บางคนอาจจะวางแผนที่จะทำอะไรๆหลายอย่างด้วยตัวเอง แต่บางครั้งมันอาจเกินกว่ากำลังของคุณที่มี คุณควรจะหาผู้ช่วยสำหรับหลายๆกิจกรรมแล้วเก็บแรงไว้กับกิจกรรมที่คุณต้องการจะทำจริงๆ

- นอนหลับให้ได้อย่างน้อย 8 ชั่วโมง การนอนหลับอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลายคนๆอย่างไรก็ตามการนอนหลับตอนกลางคืนอาจทำได้ง่ายขึ้นหากคุณคอยหาอะไรทำตอนกลางวัน ก่อนถึงเวลาเข้านอนหากิจกรรมผ่อนคลายเบาๆอาจช่วยได้ดีครับ

- วางแผนเวลาทำงานให้เหมาะกับคุณ บางคนอาจจะอยากหยุดพักขณะรับเคมีบำบัด ในขณะที่อีกหลายคนอยากจะทำงานต่อแต่อาจจะไม่ไหวเหมือนเดิม หากคุณต้องการทำงานต่อลองคุยกับหัวหน้าของคุณว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนเวลาหรือนำงานกลับมาทำที่บ้านได้หรือไม่ (หากเป็นไปได้)

- ให้คนอื่นช่วยเหลือคุณบ้าง แม้คุณจะเป็นคนที่ชอบทำอะไรด้วยตนเองมาตลอด มันอาจเป็นการดีที่คุณจะยอมให้คนในครอบครัวคุณมาช่วยเหลือในงานหลายๆอย่างเช่น งานบ้าน ไปจ่ายตลาด ขับรถรับส่ง

- เขียนบันทึกอาการของคุณ การเขียนบันทึกว่าคุณรู้สึกอย่างไรในแต่ละช่วงเวลาจะช่วยให้คุณสามารถวางแผนในการทำกิจกรรมต่างๆได้ดีขึ้นในอนาคต และเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้ทีมที่ดูแลเข้าใจอาการของคุณมากขึ้น

- เรียนรู้กันและกัน ลองพูดคุยกับผู้ป่วยมะเร็งถึงผลข้างเคียงต่างๆและวิธีรับมือ คุณอาจได้เคล็ดรับเด็ดๆในการดูแล อย่างไรก็ตามอย่าลืมปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่

- ปรึกษากับทีมที่ดูแล แพทย์ที่ดูแลอาจสั่งยาหรือทำการรักษาสาเหตุที่กระตุ้นให้อาการอ่อนเพลียแย่ลง ช่วยให้คุณรับมือกับมันได้ดีขึ้นครับ


2 คลื่นไส้และอาเจียน

        คลื่นไส้คือความรู้สึกที่อยากจะอาเจียนบางคนอาจแค่คลื่นไส้ บางคนอาจคลื่นไส้และอาเจียน ยาเคมีบำบัดบางตัวอาจมีโอกาสที่จะเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้บ่อยกว่าตัวอื่นๆ อาการคลื่นไส้อาเจียนอาจเกิดขึ้นทันทีระหว่างที่กำลังให้ยาเคมีบำบัดหรืออาจเกิดขึ้นหลายวันหลังจากให้ยาครบ อย่างไรก็ตามอาการมักจะหายไปเมื่อเสร็จสิ้นการรักษา
        ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน สามารถป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ โดยมากในยาที่มีโอกาสคลื่นไส้อาเจียนได้บ่อยแพทย์ที่รักษาจะสั่งยาแก้คลื่นไส้อาเจียนให้คุณกินก่อน ระหว่างและภายหลังการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด คุณอาจได้รับยาแก้คลื่นไส้อาเจียนมากกว่าหนึ่งตัวเพื่อป้องกันและควบคมอาการคลื่นไส้อาเจียน

วิธีการรับมือ

- กินอาหารที่ย่อยง่าย หากคุณกินอาหารย่อยยาก หรือ รสจัดเกินไปอาจทำให้คุณมีอาการแน่นท้อง คลื่นไส้ ก็จะทำให้คุณมีโอกาสที่จะอาเจียนได้ง่าย ลอง ซุปใส น้ำหวานไม่อัดลม น้ำผลไม้ อาหารจำพวกข้าวและแป้ง เนื้อสัตว์ตุ๋น ไอศกรีม โยเกิร์ต อาจช่วยคุณได้

- หาเวลาที่เหมาะกับคุณในการกิน บางคนอาจให้ยาเคมีบำบัดในขณะท้องว่าง ในขณะที่บางคนอาจรู้สึกดีกว่าหากทานอาหารอ่อนๆก่อนไปให้ยา หลังการให้ยาเสร็จสิ้นลองเว้นเวลาไปสัก 1 ชั่วโมงก่อนจะเริ่มกินหรือดื่ม

- กินให้น้อยแต่บ่อยขึ้น แทนที่จะกินวันละ 3 มื้อเหมือนปกติ คุณอาจจะรู้สึกดีกว่าเมื่อกินทีละน้อยๆแต่บ่อยครั้งขึ้นเช่น 5-6 มื้อต่อวัน อย่าดื่มน้ำมากเกินไปก่อนมื้ออาหาร และ ไม่ควรรีบล้มตัวลงนอนทันทีหลังทานเสร็จ

- กินอาหารที่ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป ลองตั้งอาหารหรือเครื่องดื่มให้หายร้อนหรือเย็นจัด คุณอาจรู้สึกดีกว่ารีบกินตอนที่มันยังร้อนหรือเย็นจัด

- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นรุนแรง แม้จะเคยชอบกินแต่ผู้ป่วยบางคนกลับพบว่ากลิ่นที่รุนแรงของอาหารกลับทำให้รู้สึกคลื่นไส้ได้ง่ายขึ้น

- อมลูกอมรสมินต์ กลิ่นหอมสดชื่นอาจช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น รสผลไม้บางครั้งก็เหมาะกับบางคน

- สูดหายใจลึกๆ เมื่อคุณกำลังรู้สึกจะอาเจียนลองสูดหายใจลึกๆ หรือลองเบี่ยงเบนความสนใจเช่นคุยกับคนอื่น ดูหนังฟังเพลง

- ปรึกษากับทีมที่ดูแล ให้แน่ใจว่าคุณกินถูกต้องตามที่สั่งและแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเป็นอย่างไร แพทย์ที่ดูแลสามารถปรับเปลี่ยนยาแก้คลื่นไส้อาเจียนให้จนเหมาะสมกับคุณได้


3 เบื่ออาหาร

        การได้รับยาเคมีบำบัดอาจทำให้คุณเจอปัญหาเบื่ออาหารได้ คุณอาจเบื่ออาหารเพราะอาการคลื่นไส้อาเจียน คุณอาจเบื่อเพราะช่องปกของคุณมันเจ็บจนยากที่จะกลืนหรือเคี้ยว คุณอาจจะเบื่อเพราะรับรู้รสชาติได้น้อยลงหรือบางครั้งอาจผิดเพี้ยนไป บางคนอาจเบื่ออาหารเพราะความเหนื่อยล้าหรืออารมณ์แย่ๆ อาการเบื่ออาหารเหล่านี้อาจเป็นแค่บางมื้อหรือยาวนานเป็นเดือน
        สิ่งสำคัญคือคุณควรจะกินให้พอแม้ว่าจะกำลังเบื่ออาหารอยู่ก็ตาม คำว่าพอนั้นหมายความถึงพลังงานที่พอและคุณค่าที่พอเช่นโปรตีน วิตามิน การกินอาหารได้พอช่วยให้ร่างกายคุณต่อสู้กับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมได้ดี ช่วยให้ร่างกายคุณซ่อมแซมปัญหาจากยาเคมีบำบัดซึ่งจะลดผลข้างเคียง การกินไม่พอคุณจะสังเกตได้จากน้ำหนักตัวที่ลดลง อ่อนเพลีย และอ่อนแอ

วิธีรับมือ

- กิน 5-6 มื้อเล็กๆต่อวันแทน 3 มื้อใหญ่ๆ การกินทีละน้อยๆแต่บ่อยครั้งขึ้นให้ผลลัพธ์ที่เท่ากันกับการกินมื้อใหญ่ๆเพียงไม่กี่มื้อ แต่มันจะง่ายกว่ามากหากกินอาหารทีละน้อยๆระหว่างที่คุณเบื่ออาหาร อย่างไรก็ตามคุณก็อาจจะยังทานได้ไม่พอ ลองเลือกทานอาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนสูงๆก็อาจช่วยลดภาระในการกินได้

- กินให้ได้ตามเวลา หากรอให้รู้สึกหิวคงยากที่จะกินให้ได้พอ ดังนั้นคุณอาจกำหนดช่วงเวลาเอาไว้ที่คุณจะต้องกินแม้ว่าจะยังไม่ค่อยหิวก็ตาม

- ดื่มอาหารเหลวๆเสริม เช่นซุป น้ำผลไม้ น้ำปั่น อาหารเหล่านี้ให้พลังงานที่มากพอควรอาจดื่มเสริมในส่วนที่ทานได้น้อยลง

- หลีกเลี่ยงเครื่องครัวและซ้อนส้อมที่ทำจากเหล็ก บางคนอาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้มีรสชาติขมติดปาก การใช้เครื่องแก้วหรือเซรามิกปรุงอาหารและรับประทานด้วยช้อนซ้อมพลาสติกอาจลดรสชาติขมติดปากเหล่านี้ได้

- ออกแรงซะบ้างช่วยให้เจริญอาหาร อาจลองทำอะไรเบาๆเช่นเดินหรืออกแรงเบาๆก่อนถึงเวลามื้ออาหารจะช่วยให้อยากอาหารขึ้นได้ ระวังอย่าออกแรงมากเกินไปจนเพลียที่จะกิน

- หาบรรยากาศใหม่ๆ ลองเปลี่ยนที่กินข้าว หาคนกินด้วย หรือดูหนังฟังเพลงระหว่างกินอาจช่วยให้เจริญอาหารขึ้น อาหารแปลกใหม่ก็อาจเป็นอะไรที่น่าลองเช่นกัน

- ปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือ นักโภชนบำบัด บางครั้งคุณอาจแค่ต้องการวิตามินเสริมเล็กน้อยๆ บางครั้งคุณอาจได้รับอาหารเสริมทางการแพทย์ บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้สายยางให้อาหารชั่วคราวก็เป็นได้


จะบำรุงผู้ป่วยด้วยอาหารโปรตีนสูงอย่างไร 
        อาหารที่มีโปรตีนสูงๆนั้นมีมากมายนอกจากไข่ขาว คนไข้หลายคนพยายามทานแต่ไข่ขาวแต่กลับยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลงเพราะมันจะเบื่อได้ง่ายมากและหากจะทานให้พออาจต้องใช้ไข่ขาวเกินสิบฟองต่อวัน ดังนั้นลองพิจารณาเปลี่ยนวิธีปรุงไข่ขาวให้ต่างไปจากการต้มธรรมดาหรือลองอาหารที่มีโปรตีนสูงเหล่านี้ครับ
- ซุปใส่ถั่วชนิดต่างๆ
- นมและอาหารเสริมทางการแพทย์(ในรูปแบบนมชง)
- เนื้อสัตว์ ไก่ หมู วัว ปลา
- เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮม ไส้กรอก
- ถั่วชนิดต่างๆ เช่นถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ
- ชีสและเนย หรืออาหารฝรั่งหลายชนิด
- โยเกิร์ต พุดดิ้ง คัสตาร์ด
- ไอศครีมนม


4 ผมร่วง

        ผมร่วงอาจหมายถึงผมบนศรีษะหรือขนตามส่วนต่างๆของร่างกาย คนไข้หลายคนกังวลอย่างมากกับผลข้างเคียงนี้และบางครั้งอาจเป็นผลข้างเคียงที่รับได้น้อยสุดของการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่ายาเคมีบำบัดทุกชนิดจะทำให้ผมร่วงอย่างรุนแรงเหมือนที่คุณเคยเห็นในละครหรือจากคนใกล้ชิด คุณสามารถถามจากแพทย์ถึงโอกาสที่ผมจะร่วงได้จากแพทย์ของคุณ ผมร่วงมักจะเริ่มเห็นได้ชัดประมาณ 10-14 วันหลังจากได้ยาเข็มแรก โดยอาจร่วงเป็นชุดใหญ่จากนั้นจะค่อยๆทยอยร่วงจนเกือบหมดในกรณีที่ได้ยาที่มีผลข้างเคียงเด่นเรื่องผมร่วง บางคนอาจมีอาการเจ็บหนังศรีษะก่อนที่ผมจะเริ่มร่วง ผมอาจทยอยขึ้นในช่วงระยะเวลาของรอบเคมีบำบัดอย่างไรก็ตามเกือบทั้งหมดของคนไข้ผมจะกลับมางอกภายใน 1-3 เดือนหลังเสร็จสิ้นการรักษา ผมที่งอกใหม่อาจมีลักษณะเปลี่ยนไปเช่นเส้นบางลง ผมตรงหรือโค้งงอ สีอาจเข้มหรือจางลง

วิธีรับมือ

ก่อนผมร่วง
- ถามถึงโอกาสที่ผมจะร่วง แพทย์ที่ดูแลสามารถบอกคุณได้ว่าคุณมีโอกาสที่ผมจะร่วงมากหรือน้อยแค่ไหนเพื่อที่คุณจะได้เตรียมตัวเตรียมใจ

- ตัดผมให้สั้น ผมที่สั้นจะช่วยลดความกังวลใจที่ผมจะร่วงได้ อีกทั้งเวลาผมร่วงคุณอาจจะไม่ค่อยรู้สึกว่ามันมากจนน่าตกใจ

- ถ้าคิดจะสวมวิกผม เริ่มทำก่อนที่ผมจะร่วง วิธีนี้จะช่วงให้คุณและช่างช่วยเลือกวิกที่เข้ากับสไตล์เดิมของคุณได้มากที่สุด อย่าลืมเลือกวิกที่สวมแล้วสบายไม่แน่นหรือกดหนังศรีษะมากเกินไป

- สระผมอย่างนุ่มนวล เลือกแชมพูอ่อนๆเช่นแชมพูสำหรับเด็ก สระผมอย่างทะนุถนอม และเช็ดผมเบาๆด้วยผ้านุ่มๆ

- หลีกเลี่ยงสิ่งที่อันตรายหรือระคายเคืองต่อหนังศรีษะ เช่น เครื่องเป่าผม สเปรย์ฉีดผม หนังยางรัดผม กิ๊บผม สียอมผม ที่ยืดผม เป็นต้น

หลังผมร่วง
- ปกป้องหนังศรีษะ หนังศรีษะคุณอาจจะบอบบางหรือเสียหายได้ง่ายเพราะไม่มีเส้นผมมาปกป้อง คุณจึงควรระมัดระวังมากขึ้นด้วยการหาสิ่งปกป้องเวลาอยู่นอกบ้านเช่นหมวก ผ้าคลุม หลีกเลี่ยงแสงแดดหรืออากาศเย็นๆ

- หาปลอกหมอนนุ่มๆ ผ้าซาตินอาจช่วยลดการเสียดสีทำให้การนอนหลับของคุณสบายขึ้นได้

- พูดคุยกับผู้อื่น ผมร่วงอาจเปลี่ยนภาพลักษณ์ของคุณไปจนทำให้อารมณ์ความรู้สึกของคุณเปลี่ยนแปลง คุณอาจลองพูดคุยกับคนอื่นๆดูว่าคุณรู้สึกอย่างไร คุณจะได้กำลังใจมากมายที่ช่วยให้คุณผ่านพ้นไปได้


5 ปัญหาการขับถ่าย(ท้องผูก ท้องเสีย)

        ระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคบำบัดคุณอาจเจอปัญหาท้องผูกหรือท้องเสียได้ ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลให้คุณเบื่ออาหารน้ำหนักลดได้ทีเดียว สาเหตุอาจเกิดได้จากตัวโรคมะเร็งเอง ผลข้างจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ยาที่ใช้รักษาผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด และอื่นๆ บางครุ้งคุณอาจท้องผูกเพราะทานน้ำหรืออาหารได้น้อยเกินไป ในขณะที่บางครั้งคุณอาจท้องเสียเพราะมีการติดเชื้อ

วิธีรับมือ - ท้องผูก

- ดื่มน้ำให้พอเพียงอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว น้ำผลไม้ หรือ น้ำอุ่นๆอาจช่วยคุณได้ดี หากกินอาหารที่มีกากใยมากอย่าลืมกินให้มากขึ้นด้วย

- ออกแรงอยู่เสมอ การออกแรงเบาๆเช่น เดิน ปั่นจักรยาน โยคะ หรือปแค่ขยับตัวบนเตียงในกรณีที่เดินไม่ค่อยไหวก็จะช่วยให้ลำไส้คุณทำงานได้ดีขึ้น

- ทานอาหารที่มีกากใยสูงๆ อาหารที่มีกากใยมากๆเช่น ขนมพวกโฮลวีท โฮลเกรน ผลไม้อบแห้ง ผลไม้สด ผักใบเขียว ช่วยให้อุจจาระจับตัวได้ดี อ่อนนุ่มทำให้ขับถ่ายได้สะดวกขึ้น อย่าลืมทานน้ำให้มากกว่าปกติด้วยเช่นกัน

- ปรึกษาทีมที่รักษา บางครั้งอาจมีการปรับเปลี่ยนยาที่คุณได้อยู่ หรือบางครั้งอาจแนะนำให้ใช้ยาระบายชนิดต่างๆ ยาระบายชนิดกากใยจำเป็นต้องทานน้ำตามมากๆ


วิธีรับมือ - ท้องเสีย

- กิน 5-6 มื้อเล็กๆต่อวันแทน 3 มื้อใหญ่ๆ อาหารที่ดูดซึมไม่หมดเวลาทานมื้อใหญ่ๆอาจทำให้ท้องเสียได้

- ดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชย หากไม่มีข้อห้ามคุณควรดื่มน้ำเกลือแร่แบบสำเร็จรูปหรือทำเอง(เช่น น้ำอัดลมที่เจือจางและเติมเกลือเล็กน้อย) เพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำและเกลือแร่ น้ำเกลือแร่ยังช่วยให้ปริมาณอุจจาระลดลง

- ทานยาแก้ท้องเสียตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น ในหลายกรณีคุณอาจได้รับยาแก้ท้องเสียมาเนื่องจากยาที่ได้มีโอกาสเกิดท้องเสียได้บ่อยคุณควรกินตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง และ ห้ามใช้ยาแก้ท้องเสียเองโดยเด็ดขาด

- หลีกเลี่ยงอาหาร รสจัด อาหารที่มันมาก เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจกระตุ้นให้คุณถ่ายบ่อยครั้งขึ้น

- ชำระล้างอย่างนุ่มนวล เนื่องจากคุณอาจจะต้องถ่ายบ่อยครั้งการชำระล้างที่รุนแรงด้วยกระดาษหยาบๆหรือสายฉีดชำระที่รุนแรงอาจทำให้ระคายเคืองเนื้อเยื่อบริเวณรอบก้นหรือเป็นแผลได้

- พบแพทย์ทันทีหากคุณถ่ายมากจนอ่อนเพลีย หรือถ่ายบ่อยครั้งมากแม้ว่าจะรับประทานยาตามที่สั่ง หรือมีอาการอื่นผิดปกติร่วมด้วยเช่น กินไม่ได้ ปวดท้องมาก มีไข้



นอกจากนี้คุณอาจอยากจะอ่านปัญหาต่อไปนี้ในตอนที่ 2 (คลิกเพื่ออ่านต่อ)
6 ไข้และภาวะการติดเชื้อ
7 ปัญหาในช่องปากและลำคอ
8 ปัญหาของผิวหนังและเล็บ
9 ปัญหาต่อปลายประสาท
10 ปัญหาต่อการมีบุตร
11 ปัญหาสุขภาพทางเพศ

หรือคุณอาจต้องการรับทราบข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผลข้างเคียง (คลิกเพื่ออ่านต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น