หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2557

ก้าวต่อไปหลังจบการรักษา

ก้าวต่อไปหลังจบการรักษา

ขอแสดงความยินดีกับการเสร็จสิ้นการรักษาโรคมะเร็ง

        มันน่าจะเป็นช่วงเวลาของความยินดีมากๆที่แพทย์ของคุณบอกว่าการรักษานั้นเสร็จสิ้นแล้ว คุณอาจจะกำลังโล่งใจที่ผ่านพ้นการรักษาเหล่านั้นไปได้แล้วอย่างไรก็ตามคนไข้หลายคนกลับพบว่ามันเป็นอีกความรู้สึกที่น่ากังวล เป็นธรรมดาที่คุณอาจจะรู้สึกกังวลว่ามะเร็งจะกลับมาสร้างปัญหาให้คุณอีก และ จะควรจะทำอย่างไรต่อไปเมื่อจบการรักษา หลายคนกลับกังวลที่การรักษาถูกหยุดลง
        เมื่อสิ้นสุดการรักษาตามแผนที่วางไว้คุณอาจจะคาดหวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับมาปกติเหมือนก่อนที่คุณป่วยหรือก่อนเริ่มการรักษา แต่บางครั้งมันอาจต้องใช้เวลาสักระยะก่อนที่ทุกอย่างจะดีขึ้น อย่างไรก็ตามคุณอาจมีปัญหาบางอย่างที่จะคงอยู่ตลอดไปเช่นรอยแผลเป็นจากการผ่าตัด ผลกระทบทางด้านจิตใจ คุณอาจคิดหรือใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากคุณคนเดิม
        ไม่ว่าคุณจะจบการรักษาจากการรักษาที่มุ่งหวังผลหายขาด หรือ พักการรักษาจากการรักษาในระยะแพร่กระจาย สิ่งที่น่ากังวลที่สุดอาจเป็นการที่คุณไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างในอนาคต เนื้อหาในบทนี้จึงมุ่งเน้นที่จะบอกเล่าว่ามันอาจจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้างในมุมกว้าง คุณควรจะถามจากแพทย์ของคุณถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นและข้อควรปฏิบัติที่อาจจำเพาะกับตัวคุณเอง


คุณอาจต้องการจะข้ามไปอ่านบทความต่อไปก่อน เกี่ยวกับการดูแลและรับมือกับปัญหาระยะยาวหลังจบการรักษา (คลิกเพื่ออ่านต่อ)

การติดตามการรักษาต่อเนื่อง

        คนไข้ทุกคนควรจะได้รับการติดตามการรักษาต่อเนื่องภายหลังสิ้นสุดการรักษา เพื่อตรวจดูว่ามะเร็งได้กลับมาหรือลุกลามมากขึ้นหรือไม่และเพื่อมองหาและเยียวยาผลกระทบจากโรคหรือการรักษา การติดตามการรักษาของแต่ละคนอาจเป็นเพียงการพบแพทย์และตรวจร่างกาย อาจมีการตรวจเลือดหรือเอกซเรย์เพิ่มเติม หรืออาจเป็นการตรวจพิเศษอะไรหลายอย่างเช่นเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ส่องกล้อง ทั้งนี้ขึ้นกับโรคที่คุณเป็น การรักษา และปัญหาสุขภาพของคุณเอง
        โดยทั่วไปคุณอาจจะต้องมาพบแพทย์ทุก 2-3 เดือนในปีแรก ทุก 3-4 เดือนในปีที่สองและสาม หลังจากนั้นการนัดอาจห่างออกไปเป็นปีละ 1-2 ครั้ง บางโรคอาจนัดถี่หรือห่างกว่านี้ได้
        แพทย์ที่อาจมีส่วนร่วมในการติดตามการรักษาจะประกอบด้วยแพทย์ที่มีส่วนร่วมในการวินิจฉัยและวางแผนรักษาซึ่งอาจได้แก่
- แพทย์ผ่าตัดเช่น ศัลยแพทย์ แพทย์หูคอจมูก แพทย์นรีเวช
- แพทย์รังสีรักษา ที่ฉายรังสีหรือฉายแสงให้แก่คุณ
- อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา หรือ แพทย์ที่ให้เคมีบำบัดแก่คุณ
       ระหว่างการรักษาที่ซับซ้อนบ่อยครั้งที่แพทย์เหล่านี้บางคนอาจมีการหลุดนัดไป คุณอาจลองถามกับแพทย์ของคุณว่าจำเป็นต้องไปพบแพทย์เหล่านี้หรือไม่ หากคุณไม่สามารถมาติดตามการรักษาได้บ่อยๆคุณอาจขอให้แพทย์ประจำตัวคุณแนะนำการติดตามการรักษากับแพทย์ใกล้บ้านที่คุณสะดวกและมาพบแพทย์ประจำตัวของคุณในระยะเวลาที่ห่างขึ้น


มาทำแฟ้มประวัติส่วนตัวกันเถอะ
        เป็นการดีที่คุณจะมีหนังสือสรุปประวัติการรักษาและแผนการรักษาในอนาคตของคุณ เพราะเมื่อคุณมีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์คนใหม่ซึ่งอาจอยู่คนละโรงพยาบาลกับแพทย์ประจำตัว ประวัติและแผนการรักษาเหล่านี้อาจมีผลต่อการตัดสินใจในการรักษาในด้านอื่นๆ
รายการต่อไปนี้อาจเป็นสิ่งที่คุณควรจะมีในแฟ้มประวัติส่วนตัว 
- มะเร็งที่คุณเป็น และวันที่ที่วินิจฉัย 
- ผลชิ้นเนื้อมะเร็ง และ ระยะที่คุณเป็น 
- การรักษาที่คุณได้ วันที่ ปริมาณรังสี(ถ้ามี) สูตรยาและขนาดยาเคมีบำบัด(ถ้ามี) 
- ผลการตรวจที่สำคัญ 
- ข้อมูลโดยย่อของปัญหาสุขภาพ ผลข้างเคียงของการรักษาที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้น 
- ข้อมูลของทีมแพทย์ที่รักษาและวิธีการติดต่อ

เมื่อต้องเข้าพบแพทย์แต่ละครั้งในช่วงการติดตามการรักษา

        เตรียมตัวให้พร้อมเพราะแพทย์อาจไม่ได้มีเวลาให้คุณมากนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาเพื่อความชัดเจนและรวดเร็ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อย่าลืมเล่าให้แพทย์ของคุณทราบถึงความผิดปกติใดๆที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายคุณแม้ว่ามันอาจจะดูเล็กน้อยมากๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นอาจส่งผลกับการติดตามการรักษาของคุณอย่างที่คาดไม่ถึงได้

ในแต่ละครั้งที่ไปพบแพทย์คุณควรจะเน้น

- อาการหรือสิ่งผิดปกติใหม่ๆที่เกิดขึ้น

- อาการเจ็บปวดที่คอยรบกวนคุณ

- ปัญหาทางสุขภาพเช่น เหนื่อย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ น้ำหนักเปลี่ยนแปลง แม้กระทั่งปัญหาเรื่อง
เพศสัมพันธ์

- ยา วิตามิน อาหารเสริม และ การรักษาอื่นๆที่คุณกำลังได้รับและแพทย์ประจำตัวคุณอาจไม่ทราบ

- ปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์ที่คอยรบกวนคุณ

- ปัญหาสุขภาพใหม่ๆครอบครัวเช่น มีญาติคนอื่นเป็นมะเร็ง

- ถามในสิ่งที่คุณต้องการทราบ


การเตรียมตัวก่อนการพบแพทย์จะช่วยให้คุณใช้เวลาได้คุ้มค่าที่สุดในการพบแพทย์แต่ละครั้ง

 

ก่อนไปพบแพทย์

- เตรียมกระดาษ ปากกาให้พร้อมที่จะจดสิ่งที่สำคัญกลับมา

- เตรียมคำถามที่ตั้งใจจะถาม จดเอาไว้เพราะมักจะลืมเมื่อพบแพทย์

- หาคนร่วมเดินทาไปด้วย เขาเหล่านั้นอาจจะช่วยจำหรือถามในสิ่งที่สำคัญๆ
ขณะที่พบแพทย์

- เมื่อได้โอกาสถาม ควรเริ่มถามคำถามที่สำคัญก่อนเพราะแพทย์อาจไม่มีเวลามากพอกับทุกคำถาม

- อธิบายปัญหาหรือสิ่งที่กังวลให้ทราบโดยย่อแล้วถามในสิ่งที่คุณต้องการให้ช่วยเช่น อธิบาย ตรวจหาสาเหตุ รักษาหรือแนะนำ

- พยายามทวนในสิ่งที่แพทย์บอกด้วยคำของคุณเอง เพราะบ่อยครั้งคุณอาจกำลังเข้าใจไปคนละทางกับที่แพทย์ตั้งใจจะบอก

- บอกในสิ่งที่ต้องการจะทราบเพิ่มเติม หากไม่เร่งรีบอาจขอให้แพทย์บอกเมื่อมีเวลาซึ่งอาจเป็นนัดครั้งหน้า

 

ก่อนจะออกจากห้องตรวจ

- อย่าลืมถามถึงการรักษาใหม่ที่ได้รับ วิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง ผลข้างเคียงที่ต้องระวัง

- อย่าลืมเก็บข้อมูลที่จำเป็นลงในแฟ้มประวัติส่วนตัว คุณอาจร้องขอสำเนาผลตรวจที่สำคัญไว้ด้วย

 

วางแผนการใช้ชีวิตของคุณ

        คนไข้ทุกคนพยายามแสวงหาหนทางในการป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับมา หรือ ไม่ให้มะเร็งลุกลามมากขึ้น คุณอาจกังวลในสิ่งที่คุณควรหรือไม่ควรจะกิน สิ่งที่คุณควรหรือไม่ควรจะทำ อย่าลืมถามคำถามเหล่านี้ ปรึกษาในสิ่งที่คุณได้รับรู้มากับแพทย์ของคุณเพื่อรับฟังว่าสิ่งต่างๆที่คุณได้รับรู้มานั้นถูกต้อง เหมาะสม หรือ อันตรายแค่ไหน มันอาจจะยากในความรู้สึกของคุณที่จะถามเรื่องเหล่านี้เพราะอาจกลัวโดนแพทย์ของคุณดุ แต่เป็นเรื่องที่ดีกว่าที่จะลองทำตามในสิ่งที่บางครั้งเป็นอันตรายต่อตัวคุณมากขึ้น
        หลายคนอาจกังวลว่ามะเร็งที่คุณเป็นจะส่งผลต่อคนในครอบครัวหรือไม่ ลูกของคุณจะเป็นมะเร็งด้วยหรือเปล่า ในความเป็นจริงมะเร็งส่วนใหญ่ไม่ได้ถ่ายทอดไปสู่ลูก อย่างไรก็ตามการที่คุณเป็นมะเร็งนั้นอาจส่งผลให้คนในครอบครัวมีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งสูงขึ้นจึงเป็นการดีที่จะหยิบยกประเด็นนี้มาสอบถามกับแพทย์ของคุณถึงความเสี่ยง การตรวจทางพันธุกรรมเพิ่มเติม(ถ้ามี) และแนวทางการดูแลรักษาคนในครอบครัวของคุณ
        สิ่งที่สำคัญที่อยากจะเน้นย้ำคือ อย่าให้ความกังวลว่าโรคจะกลับมาหรือลุกลามมากขึ้นมาบั่นทอนชีวิตของคุณ ตลอดช่วงการติดตามรักษาคุณอาจมีอาการอะไรบางอย่างเกิดขึ้นมาแม้แต่อาการที่คล้ายกับตอนที่คุณเป็นมะเร็ง อย่างไรก็ตามมันไม่ได้เกิดขึ้นจากมะเร็งเสมอไป มันสามารถเกิดขึ้นจากปัญหาอื่นๆได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป คุณควรถือโอกาสนี้ที่จะใช้ชีวิตในหนทางที่ดีกับสุขภาพ


หนทางสู่สุขภาพที่ดีเพื่อตัวคุณเอง
- หยุดสูบบุหรี่ มีงานศึกษาวิจัยมากมายที่พบว่าการหยุดสูบบุหรี่ช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำหรือลดอัตราตายจากโรคมะเร็ง นี่ยังไม่รวมถึงสุขภาพโดยรวมของคุณที่จะดีขึ้นภายหลังการหยุดสูบบุหรี่
- ลด ละ เลิก เหล้าและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หากคุณยังดื่มอยู่ โปรดทราบไว้ว่ามันอาจเพิ่มความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งบางชนิดได้
- กินให้ถูก การกินอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมอาจช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งได้ แต่ ไม่ใช่การไปสรรหาสารพัดอาหารเสริมมากิน คนไข้บางคนอาจมีอาหารบางอย่างที่ควรระวังจึงเป็นการดีที่จะถามจากแพทย์ของคุณ 
คำแนะนำเรื่องโภชนาการที่อาจช่วยลดการกลับมาเรื่องมะเร็ง
# คุมน้ำหนักให้ดี อย่าปล่อยให้ผอมหรืออ้วนเกินไป
# ลดมัน ลดเค็ม ช่วยลดปัญหาสุขภาพอื่นได้มากมาย
# ทานอาหารที่มีผักและผลไม้เป็นส่วนประกอบทุกวัน แต่ ไม่ได้หมายความว่าคุณควรจะงดเนื้อสัตว์นะ ในความเป็นจริงร่างกายคุณก็ยังต้องการโปรตีนอยู่เสมอ 
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การทำตัวให้กระฉับกระเฉงและออกกำลังกายสม่ำเสมอช่วยลดปัญหาเรื่องมะเร็งและอัตราตายจากหลายๆโรค คุณอาจจำเป็นที่จะต้องสอบถามจากแพทย์ถึงการออกกำลังกายที่เหมาะหรือไม่เหมาะกับคุณ แม้แต่คนไข้ที่ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลาการออกกำลังที่เหมาะสมเช่นการยืดกล้ามเนื้อ การขยับแขนขยับขาบนเตียง ก็ช่วยให้คุณสบายขึ้นแข็งแรงขึ้น ในขณะที่การเดิน วิ่ง หรือ ว่ายน้ำสัก 30 นาทีเป็นประจำช่วยให้คุณ ลดความกังวล ความเครียด มีความมั่นใจในตนเอง ลดอาการอ่อนเพลียและอื่นๆได้

หากคุณยังรู้สึกว่าร่างกายหรือจิตใจของคุณยังไม่กลับสู่สภาวะปรกติแม้จบการรักษาไปแล้ว ลองอ่านบทความต่อไปเกี่ยวกับ การดูแลและรับมือกับปัญหาระยะยาวหลังจบการรักษา (คลิกเพื่ออ่านต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น