หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2557

รู้จักและเข้าใจกับเคมีบำบัด

รู้จักและเข้าใจกับเคมีบำบัด

        เคมีบำบัดหรือคีโมนั้นฟังดูน่ากลัว เพราะผลข้างเคียงต่างๆ เพราะความเชื่อต่างๆ ทำให้เคมีบำบัดนั้นดูน่ากลัวเกินจริง ทั้งที่จริงแล้วยาเคมีบำบัดก็เป็นยาหนึ่งที่ใช้ในการรักษา โรคมะเร็ง คนไข้จำนวนมากทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์ที่ดีจากยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตาม เคมีบำบัดอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับทุกคน คุณจึงควรทำความเข้าใจกับยาเคมีบำบัดเสียก่อน
        โปรดเปิดใจรับฟังข้อมูลจากหมอที่ดูแลคนไข้มะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดเป็นร้อยๆรายต่อปี และคำแนะนำการรักษาที่มักผ่านการศึกษาในคนไข้เป็นพันเป็นหมื่นทั่วโลก อย่าเพิ่งปิดใจเพียงเพราะว่าคุณอาจเคยพบหรือเคยได้ยินว่าคนนั้นๆเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้เมื่อได้เคมีบำบัด

คำถาม-คำตอบที่พบบ่อยเกี่ยวกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด

- เคมีบำบัดคืออะไร?

       เคมีบำบัดหรือคีโมคือการรักษาโรคมะเร็งอย่างหนึ่งโดยใช้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง การให้ยาเคมีบำบัดอาจเป็นยาฉีดที่ผสมในน้ำเกลือ หรือ ยากินที่มาในรูปแบบเม็ดหรือแคปซูล ขึ้นกับตัวยา

- เคมีบำบัดทำงานอย่างไร?

       ยาเคมีบำบัดออกฤทธิ์ยับยั้งและทำลายเซลล์มะเร็งซึ่งมีการแบ่งตัวที่รวดเร็ว อย่างไรก็ตามเซลล์ปกติของร่างกายที่แบ่งตัวเร็วเช่น เซลล์เยื่อบุผิวในทางเดินอาหาร เซลล์รากผม เซลล์เม็ดเลือดก็อาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ส่งผลออกมาในรูปแบบข้างเคียง โดยปกติแล้วผลข้างเคียงต่างๆจะดีขึ้นหรือหายไปเมื่อเสร็จสิ้นการรักษา

- เคมีบำบัดใช้รักษามะเร็งอย่างไร?

       เคมีบำบัดใช้รักษามะเร็งได้หลากหลาย หากแบ่งตามเป้าหมายการรักษาจะได้
รักษาเพื่อให้หายขาด – ส่วนมากเป็นการรักษาตามหลังการผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่จนถึงระดับที่โรคมะเร็งจะไม่กลับมาอีก
รักษาเพื่อควบคุมโรคมะเร็ง – ส่วนมากเป็นการรักษาร่วมกับการฉายแสงเพื่อควบคุมโรคมะเร็งไม่ให้แพร่กระจาย บางครั้งอาจทำให้โรคมะเร็งสงบลง
รักษาเพื่อบรรเทาอาการ – ส่วนมากเป็นการรักษาในระยะแพร่กระจาย เพื่อมุ่งหวังให้ก้อนมะเร็งยุบลงซึ่งจะทำให้อาการต่างๆดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
       ยาเคมีบำบัดอาจใช้ก่อนการผ่าตัดเพื่อให้ก้อนยุบลงและสามารถผ่าตัดได้ดีขึ้น อาจให้ตามหลังการผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่ อาจให้เพื่อเสริมประสิทธิภาพของการฉายแสง หรือใช้เดี่ยวๆก็ได้

- หมอที่รักษาเลือกอย่างไรว่าจะใช้ยาเคมีบำบัดตัวไหน?

        การเลือกนั้นขึ้นกับ ชนิดของมะเร็งที่เป็น ระยะที่เป็น เป้าหมายของการรักษา ยาที่อาจเคยได้รับมาก่อน ปัญหาสุขภาพที่มี เป็นต้น โดยมากจะอ้างอิงจากผลการศึกษาในคนไข้ที่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับคุณเป็นหลัก บางครั้งสิทธิ์การรักษาอาจเป็นตัวกำหนดยาที่สามารถเลือกใช้ได้

- เคมีบำบัดให้กันที่ไหน?

        ยาเคมีบำบัดอาจอยู่ในรูปแบบฉีดหรือกิน ดังนั้นยาเคมีบำบัดอาจให้โดยการนอนโรงพยาบาล ให้แบบไปกลับ ให้กินที่บ้าน ซึ่งทีมที่ดูแลจะเป็นผู้วางแผนว่าจะต้องให้อย่างไร เมื่อไร

- ยาเคมีบำบัดต้องให้บ่อยแค่ไหน?

        รูปแบบการให้ยาเคมีบำบัดมีความหลากหลายมากในแต่ละสูตรและแต่ละโรค ส่วนมากจะนับการให้เป็นรอบ (Cycle) โดยแต่ละรอบอาจมีการให้ยาครั้งเดียวหรือมากกว่าหนึ่งครั้ง ระยะเวลาของการให้ยาแต่ละรอบจะนับตั้งแต่วันแรกของแต่ละรอบโดยอาจมีทั้งรอบละ 2 สัปดาห์ไปจนถึงรอบละ 8 สัปดาห์ โดยมากจะมีช่วงระยะเวลาที่ไม่ได้รับยาเคมีบำบัดเพื่อให้ร่างกายมีเวลาฟื้นฟูเซลล์ปกติให้แข็งแรง

- สามารถงดหรือเลื่อนการให้ยาเคมีบำบัดเป็นบางครั้งได้หรือไม่?

        โดยปกติแล้วการที่ไม่ได้รับยาเคมีบำบัดตามกำหนดจะไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อการรักษา แต่ในบางกรณีทีมที่รักษาอาจจะมีการปรับเปลี่ยนแผนการรักษาซึ่งอาจเกิดจากผลข้างเคียง หากมีการเปลี่ยนแปลงทีมที่รักษาจะเป็นผู้แจ้งว่าให้ทำอย่างไรและจะกลับมาให้อีกครั้งเมื่อไร

- จะรู้สึกอย่างไรในช่วงที่ให้ยาเคมีบำบัด?

        ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีความรู้สึกภายหลังได้ยาเคมีบำบัดแตกต่างกัน ขึ้นกับตัวบุคคล ชนิดของมะเร็งที่เป็น สูตรและขนาดของยาที่ได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เจอบ่อยที่สุดอย่างหนึ่งคือความรู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนล้า จึงอาจเป็นการดีที่จะวางแผนการเดินทางไม่ให้ลำบากเกินไปในวันที่มาให้ยา และอาจพิจารณาพักอีกสักหนึ่งวันหลังให้ยาเคมีบำบัด ลองอ่านเพิ่มเติมเรื่องผลข้างเคียงต่างๆและวิธีรับมือกับมัน

- สามารถทำงานระหว่างให้ยาเคมีบำบัดได้หรือไม่?

        คนส่วนมากยังสามารถทำงานต่างๆได้แม้จะอยู่ในช่วงของการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะของงานที่คุณทำอยู่และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น หากเป็นไปได้คุณอาจจะลองทำงานเพียงบางส่วนหรือนำงานมาทำที่บ้าน คุณอาจปรึกษานายจ้างของคุณเพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการรักษาและงานของคุณ

- สามารถกินยาอื่นๆได้หรือไม่ระหว่างได้รับยาเคมีบำบัด?

        ขึ้นกับว่ายาเคมีบำบัดที่ได้และยาที่จะกินนั้นมีปัญหาต่อกันหรือไม่ ทางที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงการซื้อยาเองตามร้านขายยา และ แจ้งทีมแพทย์ที่ดูแลว่ามียาอะไรที่รับประทานประจำอยู่บ้าง วิธีที่ดีวิธีหนึ่งคือนำยาที่อยู่ในซองยาหรือฉลากยามาให้ดูด้วยทั้งหมด

- ระหว่างได้รับยาเคมีบำบัดสามารถกินวิตามิน อาหารเสริม หรือยาสมุนไพรได้หรือไม่?

        วิตามิน อาหารเสริม และ ยาสมุนไพรอาจส่งผลต่อยาเคมีบำบัดที่กำลังได้รับอยู่ให้ได้ผลลดลงหรือมีผลข้างเคียงมากขึ้น จึงควรปรึกษากับทีมที่ดูแลก่อนที่จะตัดสินใจกินยาและอาหารเสริมเหล่านั้น

***ระวัง!!! ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ไม่ได้หมายความปลอดภัยเสมอไป ในความเป็นจริงยา และ ยาเคมีบำบัดหลายตัวก็มาจากธรรมชาติแต่ได้ผ่านการศึกษามาอย่างดีก่อน***

- จะรู้ได้อย่างไรว่ายาเคมีบำบัดที่กำลังได้รับอยู่นั้นได้ผล?

        ทีมที่รักษาของคุณจะประเมินจากความรู้สึกของคุณว่าเป็นอย่างไร ตรวจร่างกาย และอาจใช้การตรวจอื่นๆเช่นการตรวจเลือดและตรวจเอกซเรย์ชนิดต่างๆเพื่อบอกว่าการรักษานั้นได้ผลหรือไม่
        ผลข้างเคียงไม่ใช่ตัวบ่งชี้ว่าการรักษาจะได้ผลดังนั้นหากคุณสบายดีระหว่างการรักษาก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าการรักษาของคุณจะไม่ได้ผล ในความเป็นจริงเคมีบำบัดที่ให้นั้นส่วนมากจะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงไม่มากนัก

- การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดนั้นสามารถใช้สิทธิ์การรักษาได้หรือไม่?

        การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดของคุณอาจครอบคลุมด้วยสิทธิ์การรักษาที่คุณมี อย่าลังเลที่จะปรึกษากับทีมแพทย์ของคุณถึงเรื่องค่าใช้จ่าย ค่ายาส่วนเกินจากสิทธิ์

- อะไรหรือโครงการศึกษาวิจัย? มันจะเหมาะกับคุณหรือไม่?

        ความรู้ใหม่ๆเกิดขึ้นตลอดเวลา การรักษาใหม่ๆก็เกิดขึ้นมาเรื่อยๆเช่นกัน โครงการศึกษาวิจัยนั้นจะเป็นการศึกษาเพื่อหาการรักษาใหม่ๆเช่น ยาใหม่ วิธีใหม่ๆ หรืออื่นๆเพื่อให้ได้การรักษาที่ดีที่สุด แม้ผู้เข้าร่วมอาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการศึกษาวิจัยแต่ความรู้ที่ได้จะนำไปสู่การรักษาที่ดีกว่า เพื่ออนาคตของทุกคน
        การเข้าร่วมโครงการอาจทำให้คุณมีโอกาสได้รับการรักษาใหม่ๆที่อาจดีกว่า ในขณะเดียวกันคุณก็อาจจะมีความเสี่ยงที่การรักษาใหม่ๆนั้นไม่ได้ดีกว่าการรักษาที่เป็นมาตรฐานอยู่เดิม แพทย์ที่รับผิดชอบโครงการจะพยายามอย่างดีที่สุดที่จะปกป้องผลประโยชน์ของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามคุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ


คำแนะนำในการเตรียมพร้อมเข้าพบทีมที่ดูแลรักษา

1 เตรียมเขียนคำถามๆต่างเอาไว้ก่อนการนัด เป็นเรื่องธรรมดาที่คำถามมากมายของคุณจะหายวับไปเมื่อนั่งอยู่ตรงหน้าแพทย์ที่ดูแลคุณ ซึ่งบางครั้งคำถามนั้นก็อาจสำคัญมากๆ  และอย่าลืมเว้นที่ว่างพร้อมเตรียมปากกาไว้จดคำตอบที่ได้
2 หาคนที่คุณไว้ใจได้ไปด้วย คนเหล่านี้จะช่วยคุณจดจำสิ่งที่แพทย์ได้บอกคุณไว้ และบางครั้งอาจช่วยถามคำถามหรือถามขยายความเพิ่มเติมให้คุณเข้าใจมากขึ้น
3 ถามทุกคำถามที่คุณสงสัย ไม่มีคำถามใดที่เป็นเรื่องไม่สมควรถามตราบใดที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวคุณและการรักษาของคุณ อย่าได้เกรงใจเพราะบ่อยครั้งแพทย์ของคุณอาจเข้าใจว่าคุณเข้าใจดีแล้วในขณะที่คุณยังไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด
4 จดบันทึกสิ่งที่ได้ฟัง ข้อมูลบางครั้งจะมาพร้อมกันมากมายและเป็นเรื่องใหม่ๆคุณอาจจะหลงลืมได้ง่ายเพียงแค่เดินพ้นประตู เป็นความคิดที่ดีที่จะจดบันทึกสิ่งสำคัญๆ ***หากต้องการบันทึกเสียงหรือวีดีโอควรขออนุญาตกับแพทย์ของท่านก่อนเสมอ***
5 ถามถึงแผ่นพับหรือหนังสือแนะนำเกี่ยวกับโรคหรือการรักษาของคุณ เป็นอีกทางหนึ่งที่อาจช่วยลดภาระในการจดบันทึกหรือจดจำ อย่างไรก็ตามมันอาจจะไม่ได้มีเตรียมไว้เสมอ
6 แจ้งให้แพทย์ของคุณทราบว่าคุณต้องการจะรู้และเข้าใจเรื่องนั้นๆละเอียดเพียงใด บางคนอาจจะอยากรู้จนเข้าใจทั้งหมดในขณะที่บางคนเพียงแค่รู้ว่าต้องทำอะไรก็พอเพียงแล้ว การรู้มากเกินไปกว่าที่ต้องการบางครั้งก็ไม่ได้เป็นผลดี
7 ขอวิธีที่สามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน แต่ละที่จะมีระบบแตกต่างกัน เช่นอาจให้ติดต่อที่แผนกฉุกเฉิน อาจให้ติดต่อกับหน่วยเคมีบำบัด หรือ อาจจะติดต่อกับแพทย์โดยตรง


ตัวอย่างคำถามที่คุณอาจจะอยากถามทีมที่รักษาของคุณ
เกี่ยวกับมะเร็งของคุณ
- ชนิดและระยะของมะเร็งที่คุณเป็น?

เกี่ยวกับเคมีบำบัด
- เป้าหมายของการให้เคมีบำบัดคืออะไร?
- ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการให้ยาเคมีบำบัด?
- อันตรายจากยาเคมีบำบัดที่อาจจะเกิดขึ้นคืออะไร?
- มีทางเลือกขึ้นในการรักษาหรือไม่ อย่างไร?
- มีโครงการวิจัยอะไรที่เหมาะกับคุณหรือไม่?

เกี่ยวกับการรักษา
- การให้ยาเคมีบำบัด ให้กี่รอบ แต่ละรอบให้กี่ครั้ง แต่ละครั้งให้กี่วัน และแต่ละรอบห่างกันกี่วัน?
- ยาเคมีบำบัดที่ได้รับคือสูตรอะไร ยาแต่ละตัวมีชื่อว่าอะไรบ้าง?
- ยาเคมีบำบัดนั้นจะให้ทางไหน? และที่ไหน? จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลหรือไม่?
- จำเป็นต้องมีญาติหรือเพื่อนมาด้วยหรือไม่ในวันที่ให้ยาเคมีบำบัด?

เกี่ยวกับผลข้างเคียง
- ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในวันที่ให้ยามีอะไรบ้าง?
- ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากให้ยามีอะไรบ้าง?
- ผลข้างเคียงเหล่านั้นจะรุนแรงแค่ไหน?
- ผลข้างเคียงเหล่านั้นจะเป็นอยู่นานเท่าใด?
- ผลข้างเคียงเหล่านั้นจะกลับมาเป็นปกติหรือไม่เมื่อหยุดเสร็จสิ้นการรักษา?
- ผลข้างเคียงเหล่านั้นถ้าเกิดขึ้นจะมีวิธีรับมืออย่างไร?
- เมื่อไรที่จะต้องมาโรงพยาบาลเพราะผลข้างเคียงเหล่านั้น?

*** คุณไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ทุกคำตอบทันทีเพื่อให้การรักษานั้นประสบความสำเร็จ คุณควรเลือกถามในสิ่งที่คุณต้องการจะรู้ และอาจถามเพิ่มเติมในภายหลังได้***

3 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณข้อมูลดีๆค่ะ

    ตอบลบ
  2. คุณหมอครับ รบกวนหน่อย ครับ หลานชาย ผมเค้าอายุ 2ปี 8 เดือน เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว AML ครับ ตอนนี่รักษาตัวโดย เคมีบำบัด วันที่ 5 แล้ว ครับ อาการโดยทั่งไป เป็นที่น่าพอใจครับ วันที่ 13 กค 2018 หมอให้เลือดเพิ่ม 150 ml ครับ วันนี้ 14กค 2018 ให้เคมี บำบัด ครับ มีสีเหลือง ออกส้ม กับ อีกตัว สีขาวใส เห็นบอกว่า ตัวขาวใส ต้องหยอดตา ช่วย ด้วย ครับอาการดีขึ้น น้องเล่น ดี ปกติ ผมจะรบกวน สอบถามครับ ว่า เค้า จะมีผลข้างเคียง ที่ เป็น ช่วง peak สุดๆ เมื่อไร ครับ ผมจะได้ เตรียมความพร้อม ป้องกันให้น้องเค้า ครับ และต้องป้องกัน อะไรบ้าง รบกวน คุณกมอ และเพื่อนๆ ตอบเป็น วิทยาทาน แก่ครอบครัว เราด้วย ครับ วี 089-5325875 ,063-2098575 ผู้มีฝัน จะสานฝันด้วยความหวังที่มี ครับ ตา วี รักหลานชาย กิ๊ฟุ สุดใจ

    ตอบลบ