หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

มะเร็งเต้านม - เรื่องพื้นฐานที่คุณควรรู้

ทำความรู้จักกับมะเร็งเต้านม


เต้านม

        เต้านมผู้หญิงประกอบด้วยเนื้อเยื่อเต้านมประมาณ 15-20 กลีบ แต่ละส่วนมีกลีบย่อยเล็กๆจำนวนมาก ภายในมีต่อมน้ำนมเล็กๆทำหน้าที่สร้างน้ำนม เมื่อมีการตั้งครรภ์จนเด็กเกิดออกมา ต่อมน้ำนมจะเริ่มผลิตน้ำนมและขับน้ำนมไหลมาตามท่อน้ำนม ก่อนจะรวมเข้าสู่ท่อที่ใหญ่ขึ้นซึ่งเปิดออกบริเวณหัวนม ช่องว่างระหว่างต่อมน้ำนมและท่อน้ำนมจะเต็มไปด้วยไขมันและเนื้อเยื่ออ่อน


เซลล์มะเร็ง

        มะเร็งเริ่มต้นขึ้นจากเซลล์ เซลล์เป็นส่วนประกอบเล็กๆที่สามารถประกอบกันมาเป็นอวัยวะและส่วนต่างๆร่างกายคล้ายก้อนอิฐที่ประกอบกันเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ได้ เซลล์ปกติในร่างกายจะมีการแบ่งตัวสร้างเซลล์ใหม่เมื่อจำเป็น เพื่อทดแทนเซลล์เก่าที่อาจเสียหายหรือตายไป บางครั้งกระบวนการนี้เกิดความผิดพลาดขึ้น เซลล์มีการแบ่งตัวเกินความจำเป็นในขณะที่เซลล์เก่าก็ไม่ยอมตายจึงเกิดเซลล์ที่มีมากเกินไปก่อตัวเป็นก้อนเนื้อขึ้นมา ก้อนเนื้อนั้นก็อาจเป็นก้อนเนื้อปกติ หรือ ก้อนเนื้อร้ายที่เราเรียกว่ามะเร็งก็ได้ สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างก้อนเนื้อปกติกับมะเร็งก็คือ มะเร็งสามารถลุกลามและแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่นๆได้
        เซลล์มะเร็งเต้านมก็เช่นเดียวกันสามารถลุกลามและแพร่กระจายออกจากก้อนมะเร็งในเต้านมเข้าสู่กระแสเลือดหรือท่อน้ำเหลืองซึ่งจะนำเซลล์มะเร็งไปสู่อวัยวะอื่นๆ เหมือนพืชที่หว่านเมล็ดออกไป เมื่อเซลล์มะเร็งฝังตัวในอวัยวะใหม่ก็ออกจากเติบโตขึ้นมาและสร้างอันตรายต่ออวัยวะนั้นๆได้ เราเรียกว่า “การแพร่กระจาย” และเราจะเรียกก้อนมะเร็งในอวัยวะใหม่ตามชนิดมะเร็งตั้งต้น เช่น เมื่อกระจายไปที่กระดูกเราจะเรียกว่ามะเร็งเต้านมกระจายไปสู่กระดูก แต่ ไม่ได้เรียกว่าเป็นมะเร็งกระดูก เช่นเดียวกับต้นสนภูเขา แม้เมล็ดไปงอกริมทะเลเราก็ยังเรียกต้นไม้ใหม่นั้นว่าต้นสนภูเขาไม่ใช่ต้นสนทะเล
        มะเร็งเต้านมอาจมีการแพร่กระจายไปตามระบบน้ำเหลืองซึ่งอาจตรวจพบที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรอบข้างเช่นที่รักแร้ ที่บริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้า และที่ต่อมน้ำเหลืองด้านในทรวงอกบริเวณใต้กระดูกกลางอก


ชนิดของมะเร็งเต้านม

        มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดอย่างหนึ่งในผู้หญิง แม้จะเกิดในเต้านมเหมือนกันแต่มะเร็งเต้านมสามารถแบ่งเป็นชนิดย่อยจากลักษณะของเซลล์มะเร็งที่ปรากฏเมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งบ่งบอกว่ามันพัฒนามาจากส่วนใดของเต้านม

- Ductal Carcinoma เป็นชนิดของมะเร็งเต้านมที่พบบ่อยที่สุดราวๆ 7 ใน 10 คนที่เป็นมะเร็งเต้านมจะเป็นชนิดนี้ เกิดจากเซลล์เยื่อบุท่อน้ำนม (Ductal)
- Lobular carcinoma เป็นชนิดที่พบบ่อยรองลงมาคือพบได้ราวๆ 1 ใน 10 ของคนที่เป้ฯมะเร็งเต้านม เกิดจากเซลล์ของกลีบย่อยของเต้านม (Lobule)
- ราวๆ 2 ใน 10 คนที่เหลืออาจเป็นทั้งสองชนิดผสมกัน หรือ อาจเป็นชนิดที่พบได้ไม่บ่อยอื่นๆเช่น Mucinous, Metaplastic และ Tubular carcinoma
        ชื่อชนิดย่อยต่างๆจะเป็นคำศัพท์ทางการแพทย์ หากไม่แน่ใจคุณอาจขอให้หมอจดให้คุณพร้อมบอกวิธีออกเสียงให้แก่คุณได้
        นอกจากชนิดของเต้านมจากลักษณะที่มองเห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ เรายังสามารถย้อมชิ้นเนื้อพิเศษเพิ่มเติมเพื่อช่วยจำแนกชนิดแยกย่อยของมะเร็งเต้านม ซึ่งอาจช่วยในการเลือกการรักษาที่เหมาะสมได้เช่น

- การตรวจตัวรับของฮอร์โมน เช่น ตัวรับเอสโตรเจน (ER; Estrogen Receptor) และ ตัวรับโปรเจสเตอโรน (PgR; Progesterone Receptor) การมีตัวรับฮอร์โมนบ่งบอกว่ามะเร็งนั้นๆสามารถตอบสนองต่อการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและหรือโปรเจสเตอโรน ซึ่งการรักษาทางฮอร์โมนเช่นยาต้านฮอร์โมนอาจมีผลในการกำจัดเซลล์มะเร็งเหล่านี้

- การตรวจตัวรับเฮอร์ทู (HER-2 หรือ Erbb2) การมีตัวรับนี้บ่งบอกว่ามะเร็งนั้นๆอาจมีการแสดงออกของตัวรับนี้สูงผิดปกติทำให้มะเร็งเจริญเติบโตได้ดีและดื้อยาได้ง่าย การรักษาด้วยยาต้านเฮอร์ทูอาจมีผลในการกำจัดเซลล์มะเร็งเหล่านี้

        ราวๆ 15% จะไม่มีตัวรับทั้งสองชนิดเราเรียกว่า Tripple Negative (ER- PgR- และ HER-2 -) แปลตามตัวว่าเซลล์มะเร็งไม่มีตัวรับเอสโตรเจน ตัวรับโปรเจสเตอโรน และตัวรับเฮอร์ทู

       การตรวจชิ้นเนื้อเหล่านี้อาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์ (ปกติ 1-3 สัปดาห์) แต่จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมได้ดียิ่งขึ้น


การตรวจหาระยะของมะเร็งเต้านม

       เมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งเต้านม ขั้นตอนต่อไปที่สำคัญคือการหาระยะของมะเร็งเต้านม เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดแนวทางการรักษาที่เหมาะสม การตรวจหาระยะมักจะกระทำโดยการหาขนาดของก้อนแรกเริ่ม การแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองโดยเฉพาะบริเวณรักแร้และบริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้าและอวัยวะต่างๆ สำหรับมะเร็งเต้านมอาจพบการกระจายได้เกือบทุกอวัยวะ เช่น ปอด ตับ กระดูก และ สมอง
       การตรวจหาระยะนั้นอาจประกอบด้วยขั้นตอนหรือเครื่องมือต่อไปนี้ (การตรวจที่เหมาะสมสำหรับคนไข้แต่ละรายจะขึ้นกับแพทย์ที่ดูแลเป็นสำคัญ)

- การตรวจการกระจายไปต่อมน้ำเหลือง การผ่าตัดสำหรับมะเร็งเต้านมนั้นนอกจากจะตัดบริเวณเต้านมจะต้องจัดการตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้มาตรวจด้วย ในบางรายอาจทำการตรวจเซนทิเนล (Sentinel lymph node biopsy) ซึ่งจะเป็นการตรวจหาต่อมน้ำเหลืองแรกที่น่าจะมีการแพร่กระจายไป หากตรวจแล้วไม่พบเชื้อมะเร็งการเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมดก็อาจจะไม่จำเป็น

- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) บางคนเรียกว่าการเข้าอุโมงค์ เป็นการเอกซเรย์ซ้ำๆและต่อเนื่องก่อนจะประกอบรวมกันเป็นภาพของอวัยวะต่างๆ เพื่อให้ภาพที่ได้มีข้อมูลที่ชัดเจนอาจมีการฉีด กิน หรือ สวนทวารด้วยสารทึบรังสี ซึ่งจะช่วยให้สามารถมองเห็นส่วนของมะเร็งที่กระจายไปได้ชัดเจนขึ้น

- เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการดูภาพของอวัยวะต่างๆเช่นเดียวกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แต่ใช้สนามแม่เหล็กในการตรวจจับสัญญาณต่างๆออกมาเป็นภาพ บางครั้งอาจมีการฉีดสารเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าให้ข้อมูลที่ใกล้เคียงหรือแตกต่างกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ในคนไข้แต่ละคนจึงอาจมีการเลือกใช้ที่ไม่เหมือนกัน

- สแกนกระดูก (Bone scan) เป็นการฉีดสารรังสีปริมาณน้อยๆ ซึ่งมักจะไปจับบริเวณที่กระดูกมีการเปลี่ยนแปลงเช่น อุบัติเหตุ หรือ มีการแร่กระจายของมะเร็ง แล้วใช้เครื่องที่ตรวจจับรังสีออกมาเป็นภาพแสดงตำแหน่งที่ปกติหรือผิดปกติ

- เพ็ทสแกน (PET-scan) เป็นการตรวจบริเวณที่มีการใช้น้ำตาล(พลังงาน)ปริมาณมากๆ ด้วยการฉีดน้ำตาลที่มีรังสีปริมาณน้อยๆเข้าสู่ร่างกาย บริเวณใดที่มีการใช้น้ำตาลมากๆเช่น สมอง ตับ หรือ ก้อนมะเร็ง ก็จะให้สัญญาณภาพที่สว่างกว่าบริเวณรอบข้าง (การตรวจนี้ไม่ได้เหมาะสมหรือจำเป็นในทุกราย)

        นอกจากนี้อาจมีการตรวจอื่นๆที่จำเป็น เช่นการตรวจชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองในบริเวณที่ไม่แน่ใจ หากคุณไม่แน่ใจในเหตุผลการตรวจ คุณสามารถสอบถามจากแพทย์ที่สั่งได้และคุณสามารถขอสำเนาผลตรวจต่างๆไว้ได้ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์หากจำเป็นต้องพบกับแพทย์ที่อื่นๆ

คำถามที่คุณอาจจะต้องการถามจากแพทย์เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม 
- ผลการตรวจตัวรับฮอร์โมนเป็นอย่างไร 
- ผลการตรวจตัวรับเฮอร์-ทู เป็นอย่างไร 
- ขอสำเนาผลตรวจชิ้นเนื้อได้หรือไม่ 
- มีต่อมน้ำเหลืองที่โตผิดปกติหรือไม่ 
- มะเร็งที่เป้นอยู่ในระยะใด มีการแพร่กระจายไปที่ไหนบ้างหรือไม่


ระยะของมะเร็งเต้านม

        ระยะของมะเร็งเต้านมจะแบ่งตามขนาดก้อนในเต้านม แบ่งตามการลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง และ การแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ(ถ้ามี) แพทย์จะแบ่งมะเร็งเต้านมออกเป็น 4 ระยะ 1 2 3 และ 4 (แต่มักจะเขียนด้วยตัวเลขโรมันเช่น I, II, III และ IV)และอาจมีตัวอักษรภาษาอังกฤษกำกับเช่น A, B และ C บ่อยครั้งที่แพทย์อาจยังไม่สามารถกำหนดระยะที่แน่นอนจนกว่าจะทำการผ่าตัดแล้ว ระยะจะกำหนดตามระยะสูงสุดที่เป็นไปได้แม้ว่าอาจจะเข้าได้กับระยะที่ต่ำกว่าก็ตาม

ระยะ 0 เป็นระยะที่มีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นแล้ว (DCIS; ductal carcinoma in situ) แต่ ยังไม่มีการลุกลามออกจากบริเวณที่มันเกิดขึ้น อาจเรียกว่าเป็นระยะก่อนมะเร็ง

ระยะ 1A เป็นระยะที่ก้อนยังมีขนาดไม่เกิน 2 เซ็นติเมตร

ระยะ 1B เป็นระยะที่ก้อนยังมีชนาดไม่เกิน 2 เซ็นติเมตร แต่ เริ่มมีเซลล์มะเร็งลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง

ระยะ 2A เป็นระยะที่ก้อนยังมีขนาดไม่เกิน 5 เซ็นติเมตร หรือ มีขนาดไม่เกิน 2 เซ็นติเมตร ร่วมกับ มีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง

ระยะ 2B เป็นระยะที่ก้อนมีขนาดเกิน 5 เซ็นติเมตร หรือ มีขนาดไม่เกิน 5 เซ็นติเมตร ร่วมกับมีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง

ระยะ 3A เป็นระยะที่มีก้อนขนาดเท่าใดก็ได้ และ มีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองมากขึ้น

ระยะ 3B เป็นระยะที่มีก้อนใหญ่จนลุกลามเข้าผิวหนัง หรือ กล้ามเนิ้อทรวงอก หรือ ทำให้เต้านมบวมแดงอักเสบ ไม่ว่าจะมีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองมากน้อยแค่ไหนก็ตาม

ระยะ 3C เป็นระยะที่มีขนาดก้อนเท่าใดก็ได้ และ มีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองอย่างมาก (ตั้งแต่ 10 ต่อมขึ้นไป)

ระยะ 4 เป็นระยะที่มีการแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ นอกเหนือไปจากต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง มะเร็งเต้านมในระยะนี้อาจเรียกกันว่ามะเร็งระยะสุดท้าย

โปรดทราบ!!! มะเร็งระยะแพร่กระจายหรือมะเร็งระยะที่ 4 แม้จะเป็นระยะสุดท้ายจากตัวเลข 1-4 แต่ไม่ได้หมายถึงคนไข้อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต ในความเป็นจริงก็ยังมีการรักษาต่างๆอยู่ ซึ่งอาจทำให้คนไข้หลายคนมีชีวิตต่อไปได้อย่างแข็งแรงอีก ดังนั้นอย่าเพิ่งหมดกำลังใจ ควรคุยกับแพทย์ที่ดูแลถึงแนวทางการรักษาและความคาดหวังที่เป็นไปได้เสียก่อน


การรักษามะเร็งเต้านม

        การรักษามะเร็งเต้านมมีหลายทางเลือกซึ่งแต่ละระยะ แต่ละคนอาจมีทางเลือกที่เหมือนกัน หรือ แตกต่างกัน ในบางคนอาจจะต้องใช้ทางเลือกการรักษาที่มากกว่าหนึ่งอย่าง ทางเลือกที่เป็นมาตรฐานมีดังนี้
1 การผ่าตัด
2 การฉายแสง
3 การรักษาทางฮอร์โมน เช่น ยาต้านฮอร์โมน
4 การให้ยาเคมีบำบัด
5 การให้ยาตรงเป้า

       การเลือกทางเลือกในการรักษาสำหรับคนไข้แต่ละรายอาจพิจารณาจากระยะที่เป็น การแสดงออกของตัวรับฮอร์โมน ตัวรับเฮอร์-ทู สุขภาพโดยรวม การที่ยังมีหรือหมดประจำเดือน นอกจากนี้คนไข้ทุกคนจะได้รับการรักษาตามอาการและการรักษาประคับประคอง ซึ่งอาจเกิดจากตัวโรคมะเร็งเต้านม จากผลข้างเคียงของการรักษา ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ อย่าลังเลที่จะปรึกษากับแพทย์ของท่านถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นหรือกังวลว่าจะเกิดขึ้น

       ทีมของการรักษานอกจากแพทย์เฉพาะทางต่างๆยังอาจจะประกอบด้วยพยาบาลโรคมะเร็งและเคมีบำบัด นักโภชนบำบัด นักกายภาพบำบัด แพทย์เฉพาะทางที่คุณอาจจะได้พบมีดังนี้
1 ศัลยแพทย์เต้านม เป็นแพทย์ผ่าตัดซึ่งชำนาญในการผ่าตัดเต้านม
2 อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา เป็นแพทย์ที่ชำนาญในการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาไม่ว่าจะเป็นยาเคมีบำบัด ยารักษาตรงเป้า ยาต้านฮอร์โมนบางครั้งอาจเป็นผู้ประสานงานระหว่างแพทย์เฉพาะทางต่างๆ
3 รังสีแพทย์สาขารังสีรักษา เป็นแพทย์ที่ชำนาญในการรักษาโรคมะเร็งโดยการฉายรังสี


       บางครั้งก่อนการตัดสินใจการรักษาคุณอาจอยากจะฟังความเห็นของแนวทางการักษาจากแพทย์ท่านอื่นก่อน (Second opinion) 
        คนไข้อาจกังวลว่ามันเป็นการไม่สมควรที่จะบอกแพทย์ที่ดูแลว่าต้องการไปปรึกษา แพทย์ท่านอื่นก่อน ในความเป็นจริงแพทย์ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหากับการขอความเห็นจากแพทย์ท่านอื่น การแจ้งแพทย์ที่ดูแลอยู่จะมีประโยชน์สำคัญสองข้อคือ 1 สามารถแนะนำได้ว่าตัวโรคมะเร็งของคุณสามารถรอความเห็นจากแพทย์ท่านอื่นได้ หรือไม่เพราะบางครั้งการรักษาของคุณอาจรอนานไม่ได้ 2 แพทย์ที่ดูแลจะช่วยในการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นและสำคัญเพื่อประกอบการตัดสิน ใจในการแนะนำทางเลือกในการรักษา บางครั้งคำแนะนำที่ได้อาจเหมือนหรือแตกต่าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคุณเองในการตัดสินใจบนข้อมูลและคำแนะนำที่ครอบคลุมที่สุด


1 การผ่าตัด

        การผ่าตัดเป็นทางเลือกของการรักษามะเร็งเต้านมระยะต้นๆ และในบางกรณีของระยะแพร่กระจาย การผ่าตัดจะแบ่งเป็นสองส่วนคือ เต้านม และ ต่อมน้ำเหลืองรักแร้

- การผ่าตัดเต้านม
การผ่าตัดเต้านมอาจทำได้โดยการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด หรือ ผ่าตัดออกเพียงบางส่วนที่เรียกว่าผ่าตัดแบบสงวนเต้านมหรือเก็บเต้านม
        ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการเลือกคือ ขนาดก้อนและขนาดเต้านม จำนวนก้อนในเต้านม ความสวยงามภายหลังการผ่าตัดบางส่วน ในบางกรณีอาจไม่สามารถเลือกผ่าตัดบางส่วนได้ เนื่องจากก้อนมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดเต้านม และหากเลือกแบบสงวนเต้าคุณจะต้องฉายรังสีภายหลังการผ่าตัดเสมอ
        คุณสามารถพูดคุยกับแพทย์ของคุณได้ว่า คุณมีสิทธิ์เลือกการผ่าตัดแบบใดหรือไม่ หรือตัวคุณเองมีความต้องการต่อการผ่าตัดแบบใดมากกว่ากัน อย่างไรก็ตามหากมีข้อจำกัดคุณอาจจะไม่ได้ในทางที่คุณเลือก
- การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้
        เพื่อให้ทราบระยะที่แน่นอน การผ่าตัดจะมีการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ไปตรวจด้วย ซึ่งอาจทำการตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนลเพียงบางต่อม(และอาจไม่ต้องผ่าตัดต่อหากตรวจไม่พบเซลล์มะเร็ง) หรือทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมด
        การเลาะต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมดอาจมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงมากกว่า อย่างไรก็ตาม การไม่เลาะออกตามมาตรฐาน(คือไม่ตรวจเซนทิเนลหรือไม่เลาะออกทั้งหมด) อาจนำไปสู่การรักษาที่ล้มเหลว
แม้การทำเซนทิเนลอาจช่วยลดความจำเป็นที่ต้องเลาะออกทั้งหมดในกรณีที่ต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนลยังไม่มีมะเร็งลามไป แต่มีโอกาสราวๆ 10-15% ที่ผลตรวจเซนทิเนลให้ผลผิพลาดส่งผลให้คุณอาจต้องกลับมาผ่าตัดอีกรอบ


        นอกจากการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งเต้านม ยังมีการผ่าตัดที่อาจเกี่ยวข้อง แม้ไม่ใช่การรักษาโดยตรง ก็คือการผ่าตัดเพื่อสร้างเสริมเต้านมใหม่ทดแทนซึ่งอาจสามารถทำพร้อมกับการผ่าตัดรักษาเต้านมหรืออาจมารอทำภายหลังจบสิ้นการรักษาทุกอย่างสักระยะหนึ่ง ลองปรึกษาแพทย์ผ่าตัดของคุณถึงทางเลือกนี้ว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใดในกรณีของคุณ ในบางรายอาจเลือกที่จะใช้ถุงผ้าเต้านมเทียมใส่ไว้ในชุดชั้นในหรือเหมือนเช่นหลายๆคนคือไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสีย ควรเลือกวิธีที่เหมาะกับคุณมากกว่าเลือกตามคนอื่นๆ

2 การฉายแสง

       การฉายรังสีหรือการฉายแสงอาจเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาในหลายระยะหลายสถานการณ์ในคนไข้มะเร็งเต้านม เช่น การฉายแสงจะเป็นการรักษาโดยใช้เครื่องฉายแสงซึ่งมีลักษณะคล้ายเครื่องเอกซเรย์ ซึ่งจะปล่อยรังสีภายในขอบเขตที่กำหนดเท่านั้น การฉายแสงมักจะฉายต่อเนื่องทุกวันจันทร์ถึงศุกร์พักเสาร์ อาทิตย์ ติดต่อกันจนครบตามแผนการรักษาซึ่งอาจจะนานแค่ สองสัปดาห์ไปจนถึงหกสัปดาห์ แต่การฉายแต่ละวันจะใช้เวลาไม่นานคือราวๆ 20-30 นาที
- การฉายแสงอาจทำก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดให้สามารถผ่าตัดได้ (โดยมากมักจะได้เคมีบำบัดมาก่อนแล้ว)
- การฉายแสงจะทำตามหลังการผ่าตัดแบบสงวนเต้านม(การผ่าตัดโดยไม่ได้ตัดทั้งเต้านมออก)
- การฉายแสงอาจทำตามหลังการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด เพื่อช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่บริเวณผนังทรวงอก
- ในบางครั้งการฉายแสงอาจทำเพื่อเป็นการบรรเทาอาการหรือควบคุมโรคเฉพาะที่ในกรณีที่มีการแพร่กระจายไปสมองหรือกระดูกเป็นต้น

        แม้ว่าการฉายแสงจะไม่เจ็บปวดขณะที่กำลังฉายอยู่ แต่อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้กับบริเวณที่ได้รับรังสี เช่นการฉายบริเวณทรวงอก อาจทำให้ผิวหนังที่อยู่ในขอบเขตฉายแสงอาจแดง แห้ง หรือดำคล้ำ บางรายอาจเจ็บหรือเกิดแผลแต่ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปภายหลังเสร็จสิ้นการรักษา คุณอาจมีอาการเพลียบ้างระหว่างการฉายแสงโดยเฉพาะสัปดาห์ท้ายๆของแผนการรักษา แม้การพักมากๆจะสำคัญแต่คนไข้หลายคนๆก็รู้สึกดีกว่าหากออกกำลังกายเบาๆสม่ำเสมอทุกวันๆ

3 การรักษาทางฮอร์โมน เช่น ยาต้านฮอร์โมน

        การรักษาทางฮอร์โมนมักเรียกว่ายาต้านฮอร์โมนแม้ว่ากลไกของยาใหม่ๆอาจเป็นการยับยั้งการสร้างฮอร์โมนไม่ใช่การต้านการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนก็ตาม ในผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งมีตัวรับฮอร์โมนการรักษานี้มักจะถูกเลือกเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาของคุณ ยาต้านฮอร์โมนจะทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถเอาฮอร์โมนตามธรรมชาติในร่างกายคุณมาใช้ประโยชน์ได้
        ทางเลือกของคนที่ยังไม่หมดประจำเดือนจะเป็นยาต้านฮอร์โมนเช่น Tamoxifen หรือทำให้หมดประจำเดือนด้วยยาหรือการผ่าตัด(เอารังไข่ออกมา) แล้วใช้ยาเหมือนเช่นคนหมดประจำเดือน เช่น Tamoxifen หรือ ยากลุ่มอื่นๆเช่น Aromatase Inhibitor เช่น Letrozole Anastrozole หรือ Exemestane หรือยาอื่นๆมากมาย

โปรดอ่านรายละเอียดของการรักษาด้วยยาต้านฮอรืโมนเพิ่มเติมเช่น ผลข้างเคียง - คลิกเพื่ออ่านต่อ

4 การให้ยาเคมีบำบัด

        ยาเคมีบำบัดหรือคีโมเป็นยาที่ให้ผ่านทางเส้นเลือดเหมือนยาอื่นๆทั่วไป ในบางกรณีอาจเป็นยาเม็ด ตัวยาออกฤทธิ์เข้าทำลายเซลล์ที่แบ่งตัวเร็วๆเช่นเซลล์ มะเร็งหรือเซลล์ปกติบางส่วนของร่างกายซึ่งอาจส่งผลออกมาในรูปแบบผลข้างเคียงเช่นเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆอาจทำให้เกิดอาการซีด เกล็ดเลือดต่ำ หรือติดเชื้อได้ง่าย อาจมีผมร่วง หรือมีอาการท้องเสีย อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงนั้นไม่ได้เกิดกับทุกราย ขึ้นอยู่กับตัวยาและขนาดยาที่ใช้  ผลข้างเคียงส่วนมากจะดีขึ้นหรือหายเป็นปกติเมื่อเสร็จสิ้นการรักษา
        การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดมีที่ใช้ในเกือบทุกระยะของมะเร็งเต้านม อาจให้ก่อนหรือหลังการผ่าตัดก็ได้ ยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่อาจสามารถให้แบบไปกลับในห้องให้ยาและสารน้ำระยะสั้น หรือในบางครั้งอาจจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อให้ยา คุณสามารถสอบถามวิธีการให้ ระยะเวลาของรอบการให้ ผลข้างเคียงที่พบบ่อย และวิธีการแก้ไขเบื้องต้นจากทีมที่ดูแลการรักษาของคุณ
        ในกรณีมะเร็งเต้านมนั้นผู้ป่วยเกือบทุกรายจะรู้จักยาคีโมสูตรน้ำแดงดี เพราะเกือบทุกคนที่ได้คีโมจะเคยได้ยาสูตรนี้ อย่างไรก็ตามการทราบชื่อยา วิธีการให้ยา(สูตรยา) ขนาดยา จะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากกว่า ในบางรายหากยังไม่หมดประจำเดือนอาจหยุดการมีประจำเดือนได้ แต่ไม่ใช่ทุกรายที่เข้าสู่วัยทองอย่างแท้จริงจึงควรระวังการตั้งครรภ์ให้ดีเพราะอาจเกิดขึ้นได้แม้จะยังไม่เคยมีประจำเดือนกลับมาเลยก็ตาม

คุณอาจสนใจอ่านรายละเอียดเรื่องคีโมสำหรับมะเร็งเต้านมเพิ่มเติม - คลิกเพื่ออ่านต่อ

หรือคุณอาจสนใจอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคีโมและผลข้างเคียง โดยเฉพาะผมร่วงซึ่งมักพบได้ในเกือบทุกรายของมะเร็งเต้านม - คลิกเพื่ออ่านต่อ

5 การให้ยาตรงเป้า

        การรักษาด้วยยาตรงเป้าอาจเป็นทางเลือกของมะเร็งเต้านมที่มีตัวรับเฮอร์-ทู ซึ่งการรักษาจะออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเป้าหมายของยา(เฮอร์-ทู)ซึ่งในบางครั้งเป้าหมายเหล่านั้นก็มีอยู่ในเซลล์ปกติจึงอาจเกิดผลข้างเคียงต่างๆขึ้นได้ ยาตรงเป้ามีทั้งฉีดและกิน อย่างไรก็ตามไม่ใช่คนไข้ทุกคนจะเหมาะกับการรักษาด้วยยาตรงเป้า และ ยาตรงเป้าอาจไม่ได้ทดแทนการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
        นอกจากนี้ยาตรงเป้าใหม่ๆกำลังเข้านมสู่การรักษามะเร็งเต้านมมากขึ้น แพทย์ของคุณอาจจะแนะนำการรักษาเหล่านั้นแก่คุณ โปรดสอบถามรายละเอียดกับแพทย์ของคุณให้เข้าใจ

อาหารการกินสำหรับคนไข้มะเร็งเต้านม

        การกินอย่างถูกต้องมีความสำคัญอย่างมากทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการรักษาโรคมะเร็ง ร่างกายต้องการพลังงานที่พอเพียงเพื่อให้น้ำหนักร่างกายสมดุล และต้องการโปรตีนที่พอเพียงเพื่อรักษาความแข็งแรงของร่างกาย การกินที่พอเพียงจะช่วยให้คุณสดชื่น ร่างกายแข็งแรง บางครั้งคุณอาจมีความรู้สึกเบื่ออาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการรักษา อาจเพราะรู้สึกเหนื่อยหรือไม่สุขสบายเช่นคลื่นไส้ เจ็บปากเจ็บคอ หรือรสชาติจองอาหารผิดเพี้ยนไป ทีมที่ดูแลการรักษาอาจช่วยแนะนำการปฏิบัติ ตัวหรือหาทางให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่พอเพียงได้
        ความเชื่อผิดๆในเรื่องอาหารของคนไข้มะเร็งเต้านมนั้นมีอยู่มากมาย มากกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆเสียอีก โปรดสอบถามจากแพทย์ของคุณว่าคุณควรเลี่ยงอาหารชนิดใดหรือไม่ และ ควรทานอาหารชนิดใดเป็นพิเศษหรือเปล่า

ตัวอย่างความเชื่อผิดๆที่พบบ่อยมากๆ
- ห้ามทานเนื้อสัตว์
        โดยทั่วไปการทานเนื้อสัตว์ในคนไข้โรคมะเร็งไม่ว่าจะเป็นเนื้อชนิดใดก็ตามไม่มีผลต่อตัวโรคมะเร็ง การรักษาโรคมะเร็งอย่างมีนัยสำคัญ หากคุณต้องการคุณสามารถทานเนื้อสัตว์ได้ อย่างไรก็ตามเราไม่แนะนำให้ทานแต่เนื้อสัตว์โดยไม่ทานอาหารอย่างอื่นเลยเช่นกัน ที่เหมาะสมที่สุดคือการทานอาหารให้หลากหลาย มีคุณค่าทางอาหารครบหมู่ มีอาหารจากพืชสม่ำเสมอ

- ห้ามทานถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้
        แม้ว่าอาหารจำพวกถั่วเหลืองและน้ำเต้าหู้จะมีไฟโตเอสโตรเจนมาก อย่างไรก็ตามไฟโตเอสโตรเจนนั้นถูกดูดซึมน้อยมาก ในการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่ทานอาหารจำพวกนี้ไม่ได้มีผลเสียต่อมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด คนไข้มะเร็งเต้านมจำนวนมากพบว่านมถั่วเหลืองและน้ำเต้าหู้เป็นอาหารทีทานได้ดีในช่วงการรักษาเช่นคีโม ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานและโปรตีนที่พอเพียง

ระวัง    !!! การงดอาหารจนพลังงานไม่พอเพียงและงดโปรตีนจนไม่พอตามที่ร่างกายต้องการนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้มะเร็งหยุดเจริญเติบโตยังทำให้ร่างกายของคุณอ่อนแอ ทรุดโทรม รวมทั้งอาจมีผลข้างเคียงจากการรักษาสูงกว่าที่ควรจะเป็น


การติดตามการรักษา

        ระหว่างการรักษาคุณมักจะต้องไปโรงพยาบาลบ่อย อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นสุดการรักษาก็จะยังมีการติดตามการรักษาเป็นประจำอยู่ในระยะที่ห่างออกไปเรื่อยๆเช่นทุกเดือน ทุก 3 เดือน ทุก 6 เดือน เพราะแม้สิ้นสุดการรักษาไปแล้วมะเร็งเต้านมก็อาจจะกลับมาใหม่ๆได้(ในกรณีระยะต้นๆ) หรือกลับมาลุกลามใหม่ได้(ในกรณีระยะแพร่กระจาย)
        การติดตามการรักษาสม่ำเสมอนอกจากจะคอยเฝ้าระวังเรื่องมะเร็งกลับมายังช่วยในการติดตามผลข้างเคียงจากการรักษา ปัญหาสุขภาพใหม่ๆ หากคุณมีอาการหรือปัญหาสุขภาพใหม่ๆอย่าลังเลที่จะไปพบแพทย์ก่อนนัด
        การติดตามการรักษาอาจมีเพียงการสอบถามอาการร่วมกับการตรวจร่างกายซึ่งโดยมากจะเน้นการคลำบริเวณเต้านมและบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ เหนือกระดูกไหปลาร้า หรืออาจจะมีการตรวจเลือด ตรวจเอกซเรย์ต่างๆ ตามความจำเป็น เกือบทุกรายจะได้รับการนัดตรวจแมมโมแกรมเพื่อเฝ้าระวังการเป็นมะเร็งเต้านมใหม่ในเต้านมที่เหลืออยู่ หากคุณทานยา Tamoxifen อย่าลืมไปตรวจภายในอย่างน้อยปีละครั้งหรือตามที่แพทย์ของคุณแนะนำ



โครงการวิจัยการรักษา

        การรักษามะเร็งเต้านมมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาทางรักษาที่ดีกว่าอยู่ตลอด การเข้าร่วมการศึกษาวิจัยอาจได้ประโยชน์จากการได้รับการรักษาใหม่ๆที่ดีกว่าในขณะเดียวกันก็อาจมีความเสี่ยงจากการรักษาใหม่ๆเช่นกันหากมันไม่ได้ผลหรือมีผลข้างเคียงมากกว่า อย่างไรก็ดีแพทย์ที่มีส่วนในการศึกษาวิจัยจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนไข้ และแม้ผู้เข้าร่วมอาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการศึกษาวิจัยแต่ความรู้ที่ได้จะนำไปสู่การรักษาที่ดีกว่า เพื่ออนาคตของทุกคน

24 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณ คุณOncodog มากครับ ได้เคยอ่านความคิดเห็นของคุณOncodog อยู่บ่อยๆ วันนี้โชคดีได้มาอ่านเจอบล๊อค ขอบคุณมากครับ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณนะคะสำหรับข้อมูลที่มีประโยชน์

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณมากสำหรับข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยค่ะ

    ตอบลบ
  4. ได้ประโยชน์มาก ๆเลยค่ะ ไม่มีข้อความใหม่ ๆ อีกเหรอคะ

    ตอบลบ
  5. ขอบคุณค่ะ ขออนุญาตนำข้อมูลบางส่วนไปโพสต์ในเฟสบุคนะคะ

    ตอบลบ
  6. ดิฉันเป็นมะเร็งเต้านมไม่มีการแพ้กระจายหมอให้ยาโฮมมากินแค่ 3 แผงไม่นัดทำคีโมหรือหรือฉายแสงเลยจะเป็นอะไรหรือเปล่าค่ะเพิ่งผ่าตัดไปเมื่อ24/12/58 นี้เอง

    ตอบลบ
  7. ดิฉันเป็นมะเร็งเต้านมไม่มีการแพ้กระจายหมอให้ยาโฮมมากินแค่ 3 แผงไม่นัดทำคีโมหรือหรือฉายแสงเลยจะเป็นอะไรหรือเปล่าค่ะเพิ่งผ่าตัดไปเมื่อ24/12/58 นี้เอง

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. อย่างทราบคำตอบว่าจะเป็นอะไรหรือเปล่าคะ

      ลบ
  8. ขอบคุณมากค่ะคุณหมอ ขอให้คุณหมอสุขภาพแข็งแรงนะคะ

    ตอบลบ
  9. ขอบคุณมากค่ะคุณหมอ ขอให้คุณหมอสุขภาพแข็งแรงนะคะ

    ตอบลบ
  10. ดิฉันเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 ผ่าตัดเมื่อปลายปี 2557 เข้าเคมีบำบัด 20 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ 23 ธันวาคม 2557 จนถึง เมษายน 2559 ตอนนี้รับประทานยาฮอร์โมนอยู่ โดยหมอนัด 2 เดือน ไปพบหมอครั้ง แต่หลังจากรับทานยาฮอร์โมนรู้สึกปวดเข่าอย่างมากค่ะ จะเกี่ยวกันหรือเปล่าไม่รู้ มีใครพอทราบมัยค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. http://www.cccthai.org/l-th/index.php/2009-06-13-08-51-38/2010-05-26-10-31-57/134-tamoxifen-.html

      ลบ
  11. เปนมะเร็งเต้านมค่ะ ผ่า แล้วฉายแสง 21 ครั้ง กินยาต้าน 5ปี แต่อยากทราบว่า..ตั้งแต่ฉายรังสีและทานยาต้านฮอร์โมน..ประจำเกือน ไม่มาเลย..จะเกี่ยวกับการรักษาไหมค่ะ แล้วจะอันตรายไหม

    ตอบลบ
  12. เปนมะเร็งเต้านมค่ะ ผ่า แล้วฉายแสง 21 ครั้ง กินยาต้าน 5ปี แต่อยากทราบว่า..ตั้งแต่ฉายรังสีและทานยาต้านฮอร์โมน..ประจำเกือน ไม่มาเลย..จะเกี่ยวกับการรักษาไหมค่ะ แล้วจะอันตรายไหม

    ตอบลบ
  13. รักษาบรรเทาอาการโรคร้าย เช่น อาการเจ็บปวดจากโรค อาการป่วยรุนแรงระยะสุดท้าย สามารถทดลองการรักษาได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเห็นผลการรักษา(อาการดีขึ้น) ภายใน 7 วัน ติดต่อคุณรสริน line id : jakcosmic

    ตอบลบ
  14. รักษาบรรเทาอาการโรคร้าย เช่น อาการเจ็บปวดจากโรค อาการป่วยรุนแรงระยะสุดท้าย สามารถทดลองการรักษาได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเห็นผลการรักษา(อาการดีขึ้น) ภายใน 7 วัน ติดต่อคุณรสริน line id : jakcosmic และ line id : jakcosmic999

    ตอบลบ
  15. แม่อายุ75ปีเป็นมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายมีอาการตัวบวมมีวิธีที่จะช่วยเหลือได้บ้างมั้ยค่ะหรือเป็นการบงบอกอะไรรึป่าวค่ะ

    ตอบลบ
  16. แม่อายุ75ปีเป็นมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายมีอาการตัวบวมมีวิธีที่จะช่วยเหลือได้บ้างมั้ยค่ะหรือเป็นการบงบอกอะไรรึป่าวค่ะ

    ตอบลบ
  17. ตอนนี้แม่อายุ 57 ปี เคยเป็นมะเร็งเต้านมเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตัดนมทิ้ง คีโม ล่าสุดหมอนัดตรวจมะเร็งประจำปี ไม่พบ ปกติดี
    จนวันนี้ 9/6/60 แม่ปวดตัว ทานข้าวไม่ได้ ปวดหัว ปวดท้อง เป็นไข้ คล้ำท้องเจอก้อน มีอาการมา 1 สัปดาห์ จึงไปหาหมอ หมอตรวจเจอก้อนในตับหลายก้อน แม่หนูมีสิทธิ์เป็นมะเร็งมั้ยค่ะ หรือแค่เป็นถุงน้ำ รบกวนชี้แนะหนูด้วยค่ะ เครียดมากเลย

    ตอบลบ
  18. เป็นมะเร็งเต้านม ผ่าตัดแบบสงวนเต้า คั้งแต่ปี 2549 ให้คีโม4ครั้ง ผลการตรวจมีตัวรับฮอร์โมน
    และปัจจุบันทานยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน หลังทานได้ไม่นาน มีก้อนเลือดสีดำไหลออกมาเป็นประจำเดือน ก้อนใหญ่มากขนาดเท่าตับไก่ หลังจากน้ั้นประจำเดือนหมดมาได้ 7ปีแล้ว ทุกวันนีัไปพบหมอปีละคร้ั้ง

    ตอบลบ
  19. ดิฉันนางอัมพร เป็นมะเร็งเต้านมได้ทำการผ่าตัดและตัดเอาน้ำเหลืองออกไปแล้ว หลังจากนั้นหมอนัดใส่คีโมน้ำแดง 4 ครั้ง ครั้งที่ 4 ครบวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 หลังจากนั้นอีก 3 สัปดาห์หมอนัดตรวจอีกครั้งหนึ่ง หมอได้บอกว่าได้ส่งเรื่องขออนุมัติเติมยาคีโมตามขั้นตอนที่หมอสั่ง ตอนนี้ผ่านเลยมาเกือบสองเดือนผลการอนุมัติเติมยายังไม่มา ไม่รู้ว่าจะต้องรออีกนานเท่าไหร่ ฉันมีความกังวลมากว่าจะทิ้งช่วงเวลารอนานไปไหม จะเป็นผลเสียไหม การสั่งจ่ายยาเคมีบำบัดครั้งนี้จะต้องได้รับอนุมัติจากหน่วยงานใด (ข้อมูลส่วนตัว ดิฉันเป็นข้าราชการบำนาญ) รบกวนช่วยแนะนำด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  20. ขอขอบคุณข้อมูลดีๆสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมคะ

    ตอบลบ
  21. ไม่ระบุชื่อ16 กันยายน 2561 เวลา 08:52

    ตัดเต้านมไปแล้ว หมอกระจาย 3 จุด หมอบอกไม่มีขั้น เอาอยู่ ให้ยามาทาน หมอนัดทุกเดือน อยากทราบค่ะว่ายาจะทานได้ถึงเมื่อไหร่ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ