หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

แป้งโรยตัวกับมะเร็ง

แป้งโรยตัวกับมะเร็ง


        แป้งโรยตัวที่เราใช้กันอยู่นั้นส่วนมากมาจาก Talc ซึ่งผลิตจากแร่หินตามธรรมชาติ มีความเชื่อเกี่ยวกับแป้ง Talc กับมะเร็งมากมายโดยเฉพาะเรื่องมะเร็งรังไข่ วันนี้จึงขอเอาข้อมูลที่มีมาฝากกันครับ

        ก่อนจะอ่านต่อไปนั้นเราต้องแยกแป้ง Talc ซึ่งอาจพบในรูปแบบใยหิน (Asbestiform Talc) กับ แร่ใยหิน (Asbestos) ออกไปเสียก่อนซึ่งแร่ใยหินนั้นจัดเป็นสารก่อมะเร็งครับแต่ไม่ใช่สำหรับแป้งโรยตัวที่ทำจากแร่หิน Talc

       นอกจากแป้งโรยตัว บทความนี้จะรวมถึงเครื่องสำอางค์ที่มีส่วนประกอบของแป้ง Talc และผลิตภัณฑ์สำหรับจุดซ่อนเร้นของผู้หญิงที่อาจมีการใช้แป้ง Talc เป็นส่วนประกอบ

เกร็ดความรู้: ผู้หญิงราวๆ 20-50% ใช้แป้งกับจุดซ่อนเร้น

ข้อมูลจะอ้างอิงการศึกษาโดย IARC (ดูคำอธิบายข้างล่าง)
*** ใครสนใจอ่านตัวเต็มกดตรงนี้ครับ pdf file download ***


ข้อมูลเรื่องการก่อมะเร็งในมนุษย์

 

1 ในคนงานเหมืองแร่หินซึ่งจะมีการสัมผัสละอองแร่หินนี้ในปริมาณสูงมาก พบว่า มี 1/5 ของการศึกษาที่พบอัตราการเกิดมะเร็งปอดสูงขึ้นแต่เหมืองนั้นมีการสัมผัสกับแร่คอว์ซและแก๊สเรดอนซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด ในขณะที่อีก 4 การศึกษาพบว่าไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอด

2 แป้งโรยตัวซึ่งใช้กับบริเวณจุดซ่อนเร้น หรือบนผ้าอนามัย มีการศึกษาอยู่ 20 การศึกษาโดยมี 1 การศึกษาเป็นการศึกษาแบบติดตามระยะยาว พบว่า
2A ในการศึกษาแบบติดตามระยะยาวในพยาบาลของอเมริกาจำนวน 78630 คน เป็นเวลาเกือบ 14 ปี พบว่า มีคนที่ใช้แป้งในจุดซ่อนเร้นราวๆ 40% ไม่พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่มากขึ้น
2B ในการศึกษาแบบไม่ได้ติดตามต่อเนื่อง จำนวน 19 การศึกษาซึ่งทำในออสเตรเลีย แคนาดา และ อเมริกา พบว่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่เคยใช้แป้งในจุดซ่อนเร้น คนที่ใช้แป้งในบริเวณจุดซ่อนเร้นมีความเสี่ยงต่อโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่สูงขึ้น 30-60% (1.3-1.6 เท่า)

เกร็ดความรู้ : ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่ของผู้หญิงตลอดช่วงชีวิตคือ 1.4% ดังนั้นแม้ข้อมูลนี้จะเป็นจริงแปลว่าความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ตลอดช่วงชีวิตจะเปลี่ยนเป็น 1.8 - 2.2% ซึ่งน้อยมากๆ

อย่างไรก็ดีการศึกษาแบบนี้มีอคติหลายอย่างที่อาจเกิดขึ้นเช่น

1 คนที่เป็นมะเร็งรังไข่มีแนวโน้มจะจำได้และบอกว่ามีการใช้แป้งตรงจุดซ่อนเร้น ในขณะที่คนปกติซึ่งใช้เปรียบเทียบมีแนวโน้มจะบอกว่ามีการใช้น้อยกว่า
2 การเลือกคนที่เข้ามาทำการศึกษาอาจมีการเลือกคนไข้มะเร็งที่มีความสนใจต่อเรื่องนี้เข้ามามากกว่าคนที่ไม่เคยใช้
3 การศึกษาที่ไม่พบความสัมพันธ์มีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับการรายงานออกมา(เพราะมันไม่น่าสนใจ)
4 แป้งในอดีตมีการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งสูงกว่าปัจจุบันซึ่งในรายงานเหล่านี้ไม่ได้บอกว่าการที่เคยใช้แป้งนั้นเป้นการใช้แป้งในช่วงยุดสมัยใด

ข้อมูลเรื่องการก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง

1 ในการทดลองด้วยการสูดดมในหนูพบว่ามีอัตราการเกิดมะเร็งปอดมากขึ้นในหนูตัวเมีย
2 ในการทดลองด้วยการฉีดแป้งเข้าส่วนต่างๆของหนูไม่พบว่าก่อให้เกิดมะเร็งมากขึ้น

ข้อมูลเรื่องกลไกการก่อมะเร็ง

       ปรกติแล้วสารก่อมะเร็งควรจะสร้างความเสียหายต่อพันธุกรรมซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง แต่สำหรับแป้งโรยตัวนั้นไม่พบว่าทำให้เกิดความเสียหายต่อสารพันธุกรรม
       ในผู้หญิงปกตินั้นโอกาสที่แป้งจะสามารถเคลื่อนที่ย้อนเข้าไปได้นั้นไม่น่าเกิดขึ้นได้หรือหากเกิดขึ้นได้ก็น้อยมาก อย่างไรก็ตามในผู้หญิงที่มีความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัดนั้นสามารถพบหลักฐานการเคลื่อนที่ของแป้งไปสู่ภายในได้(เล็กน้อย)


โดยสรุป

การใช้แป้งโรยตัว Talc ในบริเวณจุดซ่อนเร้นของผู้หญิง อาจจะเป็นสารก่อมะเร็ง (Group 2B)

การสูดดมแป้งโรยตัว (เช่นจากการใช้แป้งตามปกติ) ไม่จัดว่าเป็นสารก่อมะเร็ง (Group 3)


คำแนะนำของสมาคมโรคมะเร็ง (American Cancer Society)

       แม้ข้อมูลจะยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามันก่อให้เกิดมะเร็งหรือไม่ แต่หากคุณกังวลเรื่องมะเร็งรังไข่อาจเป็นการดีที่คุณจะหลีกเลี่ยงการใช้ในบริเวณจุดซ่อนเร้น หรือ เลือกใช้แป้งที่ไม่มีสาร Talc อย่างไรก็ดีในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเรื่องความปลอดภัยหรืออันตรายจากการใช้แป้งจากผลิตภัณฑ์อื่น


หมายเหตุขยายความ


IARC หรือ  International Agency for Research on Cancer เป็นหน่วยงานขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO เป็นหน่วยงานที่เน้นการประเมินสารต่างๆว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในมนุษย์หรือไม่ ปัจจุบันมีสารเคมีมากมายที่ระบุว่าเป็นสารก่อมะเร็งและถูกจำกัดโดยกฏหมายต่างๆ

สารที่ "อาจจะเป็นสารก่อมะเร็ง (Group 2B)" คือสารที่อาจจะมีความเสี่ยงของการก่อมะเร็งซึ่งมักพบว่าสารเหล่านี้มีข้อมูลที่ขัดแย้งกัน หรือ ไม่มีกลไกการก่อมะเร็งที่อธิบายได้ ตัวอย่างสารในกลุ่มนี้ได้แก่
สารสะกัดจากว่านหางจรเข้ (รอการตีพิมพ์)
สารสะกัดใบแปะก๊วย
ยาบางชนิด
ลูกเหม็น
และสารเคมีในชีวิตประจำวันจำนวนมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น