หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง


        ความน่ากลัวของโรคมะเร็งทำให้หลายคนๆหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น หลายคนอยากจะตรวจสุขภาพเพื่อหวังว่าหากจะเป็นมะเร็งก็ขอให้เป้นในระยะต้นๆที่รักษาได้ดี บทความนี้จะขอทำความเข้าใจในการตรวจคัดกรองมะเร็งและข้อสรุปของคำแนะนำในปัจจุบัน (อัพเดต 5 พฤษภาคม 2557) อย่างไรก็ตามก่อนจะทำการตรวจใดคุณควรปรึกษากับแพทย์เสียก่อนว่าการตรวจนั้นๆเหมาะสมกับคุณหรือไม่
        การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับคำๆนี้ แต่จะคุ้นเคยกับคำว่าตรวจสุขภาพ หรือตรวจหามะเร็ง เพื่อความเข้าใจที่ดีโปรดทราบว่า การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งคือการตรวจหามะเร็งในขณะที่คุณไม่มีอาการหรือสุขภาพโดยรวมปกติ ทั้งนี้ไม่รวมการตรวจหามะเร็งในกรณีที่ร่างกายคุณมีความผิดปกติแล้วเช่น มีน้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการขับถ่ายผิดปกติ หรือมีอาการไอเรื้อรัง เป็นต้น
        เป้าหมายหลักของการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งนั้นเพื่อลดอัตราการเกิดมะเร็งหรือเพื่อลดอัตราตายจากโรคมะเร็ง ซึ่งอาจได้ผลเช่นนั้นหากการตรวจช่วยให้ตรวจพบระยะก่อนเป็นมะเร็งหรือสามารถนำไปสู่การรักษาที่ดีขึ้น ในระยะที่เริ่มต้นมากกว่า ดังนั้นในบางกรณีเช่น แม้จะตรวจพบแต่ไม่สามารถรักษาดังนั้นได้การตรวจคัดกรองก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเมื่อเทียบกับไม่ตรวจ


อ่านสักนิดก่อนคิดตรวจ



        เวลาพูดถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งหลายคนนึกถึงการตรวจค่ามะเร็งในเลือดซึ่งสะดวก เจ็บตัวน้อย แต่ไม่ใช่ว่ามันจะได้ประโยชน์เสมอไปในความเป็นจริงการตรวจเลือดส่วนใหญ่ไม่มีประโยชน์ที่แน่ชัดในกรณีการตรวจเพื่อคัดกรองมะเร็งเพียงอย่างเดียว
        ในทางการแพทย์เวลาเราจะแนะนำการตรวจคัดกรองโรคใดก็ตามรวมทั้งโรคมะเร็งนั้น ก่อนจะตัดสินใจตรวจจะต้องชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียของการตรวจนั้นๆเสียก่อน นอกจากความเสี่ยงจากการตรวจนั้นๆแล้ว การตรวจคัดกรองที่แม้แต่สิ่งที่เป็นมาตรฐานก็ยังอาจมีความเสี่ยงหรือข้อเสียเหล่านี้

1 ตรวจเจอโดยไม่จำเป็น หลายคนอาจเข้าใจว่าคนเป็นมะเร็งทุกคนจะต้องตายหากไม่รักษา ในความเป็นจริง มีมะเร็งจำนวนไม่น้อยที่อาศัยอยู่ในร่างกายเราแต่อาจไม่เคยทำอันตรายร่างกายเรา ดังนั้นการตรวจคัดกรองอาจทำให้พบมะเร็งเหล่านี้ทั้งที่หากปล่อยไว้เราอาจจะไม่ต้องมาเครียด มาเจ็บตัว และไม่ต้องมาสิ้นเปลืองกับการรักษา อย่างไรก็ตามมะเร็งที่เริ่มต้นมาด้วยอาการผิดปกติไม่ใช่มะเร็งที่โตช้าหรือไม่อันตรายแบบนี้ คุณควรรับการรักาาตามคำแนะนำของแพทย์ของคุณ

2 ผลบวกปลอม การตรวจหลายอย่างอาจให้ผลบวกหรือผลผิดปกติทั้งที่ไม่มีมะเร็งอยู่จริง พบได้บ่อยในการตรวจเลือดหาค่ามะเร็งในเลือด แม้จะดูว่าไม่ร้ายแรงอะไร แต่ในความเป้นจริงคนไข้ต้องเผชิญกับความเครียด ความกังวล และการตรวจอื่นๆที่อาจไม่จำเป็นเลยก็ได้

3 ต้องตรวจมากขึ้นเกินจำเป็น สองปัจจัยแรกขั้นต้นจะนำมาสู่การตรวจเพิ่มเติมที่ไม่จำเป็น บ่อยครั้งการตรวจเหล่านี้จะเริ่มมีความเสี่ยงต่อสุขภาพที่มากขึ้นเช่นการตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจ นอกจากความเสี่ยงจากการตรวจเพิ่มเติมยังมีข้อเสียต่อ เวลา ทรัพย์สิน และความเครียดทั้งที่ไม่จำเป็น

4 ให้ความมั่นใจที่ผิดๆ เนื่องจากการตรวจต่างๆอาจพบผลลบปลอมได้คือ มีมะเร็งอยู่แต่ตรวจไม่พบ มันอาจส่งผลให้คุณและแพทย์ของคุณละเลยสัญญานเตือนต่างๆที่อาจมีอยู่หรือกำลังเกิดขึ้นเพียงเพราะว่าผลการตรวจก่อนหน้านั้นบอกว่าปกติ ผลก็คือคุณอาจยิ่งล่าช้าในการรักษากว่าคนที่ไม่เคยไปตรวจเสียอีก


คำแนะนำในการตรวจคัดกรองมะเร็งมาจากไหน

       นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และ แพทย์ ร่วมมือกันเพื่อค้นหาและปรับปรุงการตรวจคัดกรองมะเร็งให้ดีขึ้นอยู่ตลอด ผลของการศึกาาต่างๆมีทั้งที่ได้ประโยชน์และไม่ได้ประโยชน์ ความแตกต่างของวิธีการวิจัย กลุ่มประชากรผู้เข้าร่วมการศึกษา และอีกหลากหลายปัจจัยสอาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างระหว่างการศึกษาของสิ่งเดียวกัน จึงมีหน่วยงานอิสระมากมายที่นำข้อมูลเหล่านี้มาแปลผล มาตีความ ออกมาเป็นคำแนะนำซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถนำมาเป็นคำแนะนำแก่คนที่สนใจจะตรวจ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในแต่ละบุคคลอาจมีความเหมือนหรือแตกต่างกับคำแนะนำจากหน่วยงานนั้นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่คุณจะปรึกษากับแพทย์ของคุณก่อนการตรวจคัดกรอง
       หน่วยงานที่ทำคำแนะนำออกมาเป็นแนวทางในการตรวจคัดกรองเช่น American Cancer Society(ACS) และ U.S. Preventive Services Task Force (USPSTF) ซึ่งใช้ข้อมูลจากการศึกษาเป็นหลัก หรือ คำแนะนำจากกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งซึ่งผสมผสานข้อมูลจากการศึกษาและความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง เช่น National Comprehensive Cancer Network (NCCN guideline)


การตรวจคัดกรองตามมาตรฐาน

        ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองมะเร็งดังต่อไปนี้ที่แนะนำ ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งต่อมลูกมาหก

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม

คำแนะนำ
ACS
อายุ 20 - 39 ปี ตรวจเต้านมด้วยตนเอง และ ตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุก 3 ปี
อายุ 40 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมด้วยตนเอง และ ตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุกปี และ ตรวจแมมโมแกรมสม่ำเสมอ

USPSTF
อายุ 40 - 49 ปี ตรวจแมมโมแกรมสม่ำเสมอภายหลังการปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีข้อเสีย
อายุ 50 - 74 ปี ตรวจแมมโมแกรมสม่ำเสมอ
USPSTF ไม่แนะนำให้ทำการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และ ไม่มีข้อสรุปเรื่องการตรวจเต้านมโดยแพทย์

NCCN guideline
อายุ 25 - 39 ปี ตรวจเต้านมด้วยตนเอง และ ตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุก 1 - 3 ปี
อายุ 40 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมด้วยตนเอง และ ตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุกปี และ ตรวจแมมโมแกรมสม่ำเสมอ

อายุเท่าใดก็ตาม แต่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมสูงกว่าปกติ ควร ตรวจเต้านมด้วยตนเอง และ ตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุก 6 - 12 เดือน และ ตรวจแมมโมแกรมสม่ำเสมอโดยเริ่มที่อายุน้อยที่สุด 30 ปีเป็น้ตนไป อาจพิจารณาตรวจ MRI เต้านมร่วมด้วย

คำอธิบาย
- การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
        การตรวจเต้านมด้วยเองได้แก่การตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย โดยทั่วไปแนะนำให้ตรวจหลังจากประจำเดือนหมดไปในแต่ละรอบ หากพบความผิดปกติให้ปรึกษาแพทย์ทันที แม้ว่าผลการศึกษาที่เปรียบเทียบระหว่างการสอนให้ตรวจด้วยตนเองเมื่อเทียบกับการไม่สอนวิธีตรวจด้วยตนเองจะพบว่าไม่ได้ช่วยลดอัตราตายจากมะเร็งเต้านม แถมยังนำไปสู่การตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น จนเป็นข้อสรุปของ USPSTF ที่ไม่แนะนำให้ตรวจ แต่ ACS และ NCCN แนะนำให้ตรวจเนื่องจากเป็นการช่วยให้ผู้หญิงใส่ใจความเปลี่ยนแปลงของเต้านมตนเอง ส่วนการตรวจที่มากขึ้นเกินจำเป็นนั้นความเห็นส่วนตัวจะไม่ค่อยเป็นปัญหาในชีวิตจริงเพราะปรกติแล้วกว่าผู้หญิงจะตัดสินใจมาพบแพทย์มักจะใช้เวลานานมากราวๆ 3 - 6 เดือนโดยเฉลี่ยแม้มันจะผิดปกติชัดเจน

- การตรวจเต้านมโดยแพทย์
        การตรวจเต้านมโดยแพทย์คือการที่ตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ผู้ซึ่งได้รับการฝึกฝนในการตรวจมะเร็งเต้านม การตรวจด้วยวิธีนี้มีความแม่นยำมากกว่าการตรวจด้วยตนเอง และลดปัญหาความผิดพลาดจากการตรวจด้วยตนเองที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามผลการศึกษายังไม่ได้นำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนตามความเห็นของ USPSTF ส่วน ACS และ NCCN แนะนำให้ตรวจเนื่องจากจะช่วยให้คนไข้ได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดขึ้น มีโอกาสในการตรวจทานวิธีการตรวจด้วยตนเองว่าถูกต้องเหมาะสมแค่ไหน เปิดโอกาสให้คนไข้ได้รับคำแนะนำในเรื่องสุขภาพอื่นๆเช่นการตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจคัดกรองมะเร็งอื่นๆ

- การตรวจแมมโมแกรม
        เป็นการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์บริเวณเต้านมจำนวนสองท่าต่อหนึ่งข้าง การตรวจแมมโมแกรมนี้มีผลการศึกษาในช่วงแรกที่แสดงให้เห็นผลในการลดอัตราตายอย่างชัดเจนจากโรคมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามการตรวจแมมโมแกรมมีข้อจำกัดในกรณีที่เนื้อเต้านมแน่นมากเช่นในคนอายุน้อยๆ จึงทำให้การศึกษานั้นนิยมทำในคนที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
        ในยุโรปบางประเทศเริ่มมีความเห็นในการไม่แนะนำให้ตรวจแมมโมแกรมเพื่อคัดกรองในประชากรทั่วไป เนื่องจากผลการศึกษายุคใหม่ๆพบว่าการตรวจแมมโมแกรมช่วยลดอัตราตายจากโรคมะเร็งเต้านมได้เพียงเล็กน้อยมาก อย่างไรก็ตามสมาคมต่างๆทั่วโลกยังแนะนำให้ตรวจแมมโมแกรมอยู่เนื่องจาก สาเหตุของการศึกษายุคหลังๆพบประโยชน์ที่น้อยลงเรื่อยๆอาจเกิดจากการรักษาในปัจจุบันได้ผลดีมากโดยเฉพาะเคมีบำบัดที่ดีขึ้นอย่างมาก และ การตรวจพบในระยะต้นๆก็ช่วยให้การรักษาง่ายขึ้นเช่น สามารถผ่าตัดเก็บเต้านมได้ อาจลดการให้คีโมหรือฉายแสงลงได้
        ความเห็นส่วนตัวยังมองเห็นประโยชน์ของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมอยู่ โดยเฉพาะในไทยซึ่งโอกาสเข้าถึงการรักษาตามมาตรฐานอาจเป็นไปไม่ได้าหรับประชากรส่วนใหญ่ สิ่งที่สำคัญคือ คุณควรเข้าใจว่าการตรวจแมมโมแกรมมีผลอย่างไร ในการศึกษาแมมโมแกรมอาจลดอัตราตายจากมะเร็งเต้านมลงได้ราวๆ 20% แม้ว่าตัวเลขนี้จะดูเยอะมาก แต่ ในกลุ่มประชากรเช่นในยุโรปที่มีอัตราตายจากโรคมะเร็งแค่ 0.5% การลดลง 20% ก็คือลดลงไปได้แค่ 0.1% เท่านั้นเอง ผมคิดว่าอัตราตายจากโรคมะเร็งเต้านมในเมืองไทยเราน่าจะสูงกว่านี้มากดังนั้นหากประสิทธิภาพโดยรวมคือ 20% ในเมืองไทยเราน่าจะได้ประโยชน์สูงกว่านี้

- คนที่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนปกติทั่วไป

        การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในคนที่มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติมักมาจากความเห็นผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากในคนกลุ่มนี้การทำการศึกษาโดยเปรียบเทียบกับการไม่ตรวจคัดกรองเลยจะสุ่มเสี่ยงต่อการผิดจริยธรรม ปัญหาสำคัญสำหรับประชากรทั่วไปคือ ใครเป็นคนที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมสูงกว่าปกติ ผู้ป่วยที่มีปัจจัยต่อไปนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงการตรวจคัดกรองว่าเหมาะสมหรือไม่

- เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน
- เคยมีผลชื้นเนื้อเป็นระยะก่อนมะเร็งชนิด Lobular Carcinoma in situ (LCIS)
- เคยฉายแสงโดนบริเวณเต้านมหรือทรวงอกมาก่อน (ไม่ใช่แค่การเอกซเรย์นะครับ)
- มีญาติเป็นมะเร็งเต้านมซึ่งอาจบ่งบอกว่ามีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- และ มีความเสี่ยงตั้งแต่ 1.7% ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ด้วยวิธี Gail Model (คลิกเพื่อลองทำด้วยตนเองครับ - เป็นภาษาอังกฤษ)


การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก

        การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมีมานานหลายสิบปีแล้ว แต่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระยะๆ จากความรู้และความเข้าใจในตัวโรคมะเร็งปากมดลุกมากขึ้น การเข้ามาของการตรวจไวรัส HPV สาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก คำแนะนำใหม่ๆอาจออกมาแล้วระหว่างที่คุณอาจบทความนี้ อย่าลังเลที่จะปรึกษากับแพทย์ของคุณในคำแนะนำเหล่านั้น

คำแนะนำ โดย ACS / USPSTF / NCCN (***สมาคมสูตินารีแพทย์ของอเมริกาให้คำแนะนำที่แตกต่างจากนี้เล็กน้อย)

- อายุ น้อยกว่า 21 ปี - ไม่ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไม่ว่าจะเริ่มต้นมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุเท่าใดก็ตาม
- อายุ 21 - 29 ปี - แนะนำให้ตรวจทางเซลล์วิทยาเช่น PAP smear ทุก 3 ปี
- อายุ 30 - 65 ปี - แนะนำให้ตรวจ 1 ตรวจทางเซลล์วิทยาเช่น PAP smear ทุก 3 ปี หรือ 2 ตรวจทางเซลล์วิทยาร่วมกับตรวจไวรัส HPV ทุก 5 ปี
- อายุมากกว่า 65 ปี - ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หาก ผลการตรวจอย่างสม่ำเสมอก่อนหน้านี้ให้ผลปกติ

- หากคุณ ตัดมดลูกออกทั้งหมด(รวมปากมดลูก) - ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- หากคุณ ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก - คุณยังต้องตรวจตามคำแนะนำปรกติ

อย่าไรก็ตามหากผลการตรวจให้ผลผิดปกติคุณอาจได้รับคำแนะนำให้ตรวจคัดกรองในระยะเวลาที่ถี่กว่านี้

คำอธิบาย
- การตรวจทางเซลล์วิทยา
        แต่เดิมเคยแนะนำให้ตรวจในคนที่อายุน้อยกว่านี้หากเคยมีเพศสัมพันธ์ซึ่งจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส HPV หรือแม้ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แต่ในปัจจุบันเลิกให้คำแนะนำในการตรวจที่อายุน้อยกว่า 21 ปีแล้วเนื่องจากผลของการตรวจไม่สัมพันธ์กับการดำเนินของโรคมะเร็งปากมดลูกเสมอไป และยังสร้างความเครียดให้กับบุคคลที่รับการตรวจอีกด้วย

- การตรวจไวรัส HPV
        การตรวจไวรัส HPV ไม่แนะนำในคนอายุน้อยเนื่องจากยังขาดข้อมูลที่จะมาช่วยแสดงให้เห็นว่าการตรวจเหล่านั้นได้ประโยชน์เหนือไปกว่าการตรวจทางเซลล์ตามปกติ การตรวจไวรัส HPV ไม่แนะนำในการตรวจทดแทนการตรวจทางเซลล์วิทยา เนื่องจากยังขาดข้อมูลที่จะมาช่วยแสดงให้เห็นว่าการตรวจเหล่านั้นได้ประโยชน์เหนือไปกว่าการตรวจทางเซลล์ตามปกติ แต่การตรวจร่วมกันอาจช่วยลดความถี่ของการตรวจลงได้ในคนที่อายุ 30-65 ปี


การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

คำแนะนำ
        ทั้ง ACS, USPSTF และ NCCN แนะนำการเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่อายุ 50 ปีเป็นต้นไปสำหรับประชากรทั่วไปๆ
  
หรือ หากมีญาติสายตรงคือพ่อแม่ หรือพี่น้องร่วมบิดา มารดาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 60 ปีให้เริ่มตรวจเมื่ออายุถึงอายุที่ญาติเป็นลบด้วย 10 (เช่นพ่อเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่อายุ 56 ปี ก็ควรจะเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 46 ปีเป็นต้นไป)
 
หรือ หากมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า 1 คนแต่อายุเกิน 50 ปี ควรเริ่มตรวจคัดกรองที่อายุ 40 ปีเป็นต้นไป

การตรวจ (เลือกอันใดอันหนึ่ง)
1 ส่องกล้องลำไส้ใหญ่อย่างน้อยทุก 10 ปี
2 ส่องกล้องลำไส้ใหญ่แบบสั้นทุก 5 ปี
3 ตรวจเลือดแฝงในอุจจาระทุก 1 ปี
4 ตรวจข้อ 2 + 3 ร่วมกัน

การตรวจอื่นๆยังไม่เป็นมาตรฐานสากลเช่น การสวนแป้ง (ACS แนะนำตรวจทุก 5 ปี) การตรวจดีเอ็นเอมะเร็งในอุจจาระ (ยังขาดข้อมูลในความถี่ในการตรวจ) การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จำลองภาพลำไส้ใหญ่ (ACS แนะนำตรวจทุก 5 ปี)

ไม่มีการแนะนำการตรวจค่ามะเร็งลำไส้ในเลือดหรือ CEA ในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ และ มะเร็งอื่นๆ

คำอธิบาย
- การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ 
        เป็นการตรวจที่ดีที่สุดเนื่องจากสามารถตรวจได้ตลอดความยาวลำไส้ใหญ่และหากพบความผิดปกติสามารถตรวจชิ้นเนื้อ หรือ ให้การรักาา (ติ่งเนื้อ) ไปได้เลย อย่างไรก็ตามมีข้อจำกัดอยู่เหมือนกันเช่น ต้องมีการเตรียมตัวก่อนการส่องกล้อง อาจเจ็บตัวหรือไม่สุขสบาย

- การตรวจเลือดแผงในอุจจาระ 
        มีข้อดีคือความสะดวกในการตรวจเมื่อเทียบกับการส่องกล้อง อย่างไรก็ตามการตรวจนี้อาจมีประสิทธิภาพต่ำหากการตรวจไม่ได้มาตรฐาน และ หากผลผิดปกติ(ซึ่งอาจไม่ใช่มะเร็ง) ก็จะนำไปสู่การตรวจส่องกล้องลำไส้อยู่ดี


การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด

        แนะนำการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยปริมาณรังสีต่ำ เฉพาะ ในคนต่อไปนี้ (ต้องมีครบทุกข้อ)
1 อายุ 55 - 74 ปี (USPSTF แนะนำให้ตรวจจนถึง 80 ปี)
2 สูบบุหรี่มา 1 ซอง ต่อวัน นาน 30 ปี หรือ เทียบเท่า (เช่นหากสูบวันละ 2 ซองจะเข้าเกณฑ์หากสูบมานาน 15 ปี)
3 ยังสูบบุหรี่อยู่ หรือ เลิกสูบบุหรี่มาไม่เกิน 15 ปี
4 สุขภาพแข็งแรงพอที่จะมีชีวิตยืนยาวพอจะได้ประโยชน์จากการตรวจ และ แข็งแรงพอที่จะรับการผ่าตัดปอดในกรณีที่ตรวจพบ

หมายเหตุ การตรวจเอกซเรย์ธรรมดา ไม่มีความไวมากพอในการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่แนะนำการตรวจคัดกรองในคนที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงครบตามข้างต้น


การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

        มะเร็งต่อมลูกหมากพบได้น้อยในคนไทยเมื่อเทียบกับชาวตะวันตก และ ข้อมูลในการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากมีปัญหาในแง่ของประโยชน์ของการตรวจคัดกรองพอสมควร คือ ธรรมชาติของมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นมีความหลากหลายตั้งแต่ดุร้ายมาก ไปจนถึงชนิดที่แอบอาศัยอยู่โดยที่อาจไม่เคยทำปัญหาให้กับร่างกาย คนเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากส่วนมากก็เสียชีวิตจากสาเหตุที่ไม่ใช่มะเร็ง ดังนั้นประโยชน์ของการตรวจคัดกรองจึงไม่เด่นชัดนัก นอกจากนี้การตรวจยังอาจนำไปสู่การตรวจอื่นๆที่อาจไม่จำเป็นเลยหากไม่ได้ไปเริ่มตรวจ จึงสำคัญมากที่คุณจะคุยกับแพทย์ของคุณก่อนเริ่มการตรวจ

คำแนะนำ หากเลือกตรวจ ควรตรวจด้วย การตรวจค่าเลือดมะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) ร่วมกับการตรวจด้วยนิ้วทางทวารหนัก (DRE) ทุก 1 - 2 ปี
- ACS และ NCCN แนะนำให้เริ่มตรวจภายหลังเข้าใจข้อดีข้อเสียของการตรวจ ตั้งแต่อายุ 50 ปี และหยุดหากอายุมากกว่า 70 ปีหรือคิดว่าอายุขัยที่เหลืออยู่จะต่ำกว่า 10 ปี
- USPSTF ไม่มีข้อมูลที่พอเพียงจะแนะนำให้ตรวจ


การตรวจคัดกรองมะเร็งตับ

        การตรวจคัดกรองมะเร็งตับไม่แนะนำในประชากรทั่วไป อย่างไรก็ตามมันสมควรจะถูกกล่าวถึงในบทความนี้ด้วยสองเหตุผลคือ
1 คนไทยมีโอกาสเป็นไวรัสตับอักเสบ บี แบบเรื้อรังสูง (กว่าคนชาติทางตะวันตก)
2 การตรวจด้วยค่ามะเร็งตับในเลือด ถูกนำไปตรวจมากมายโดยไม่มีข้อมูลสนับสนุน

คำแนะนำ
ควรตรวจ ค่ามะเร็งตับในเลือด (AFP) ร่วมกับ อัลตราซาวด์ตับ ทุกๆ 6 - 12 เดือน ในกรณีต่อไปนี้ (ข้อใดข้อหนึ่ง)
1 เป็นตับแข็ง ทั้งจากกินเหล้า ไวรัสตับอักเสบ หรือ สาเหตุอื่นๆ ไม่ว่าอายุเท่าใดก็ตาม
2 เป็นไวรัสตับอักเสบ บี แบบเรื้อรัง หรือ ที่เรียกกันว่า พาหะไวรัสตับอักเสบ บี ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงอีก 1 ข้อเช่น
- มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ
- หากเป็นชาย อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
- หากเป็นหญิง อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

ความเห็นส่วนตัว แม้คำแนะนำในคนที่เป็นไวรัสตับอักเสบ บี แบบเรื้อรัง จะเริ่มที่อายุ 40 และ 50 ปีดังกล่าว อย่างไรก็ตามเราอาจพบได้ในอายุก่อนหน้านั้น


ข้อสรุปส่งท้าย

        การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งนั้นดูน่าสนใจ อย่างไรก็ตามมันไม่ได้มีแต่ข้อดีเท่านั้น อย่าลิมข้อจำกัดของการตรวจและข้อเสียของการตรวจต่างๆ ดังนั้นจึงสำคัญมากที่คุณควรจะได้ปรึกษากับแพทย์ที่เชี่ยวชาญก่อนเริ่มต้นการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งไม่ใช่แค่เลือกที่จะตรวจๆไปก่อนแล้วมาปวดหัวกับผลตรวจที่หลัง บางครั้งแพทย์ของคุณอาจแนะนำการตรวจที่ไม่ตรงกับคำแนะนำทั่วไปซึ่งเป้นไปได้หากคุณมีอะไรที่แตกต่างจากคนทั่วไป จึงควรปรึกษากับแพทย์ของคุณว่าเขาแนะนำการตรวจนั้นๆด้วยเหตุใด

4 ความคิดเห็น:

  1. พี่เป็นมะเร็งเต้านมข้างขาวตัดและทำสัยกรรมแล้วเข้าต่อมน้ำเหลือง 3 ต่อม เลาะออกด้วย ให้คีโม 8เข็ม ตอนนี้เข็มที่สองละ ถ้าให้คีโมครบ ฉายแสงต่อ 25 ครั้ง แต่ของพี่ไม่มีตัวรับโฮโมน ไม่ใช่เฮอทู การรักษาจึงให้คีโมกับฉายแสงอย่างเดียวไม่มียาทาน อยากทราบว่าเคสแบบนี้เป็นงัยบ้าง รบกวนคนที่มีประสบการแบบเดียวกันให้ความเข้าใจด้วยคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

      ลบ
  2. พี่เป็นมะเร็งเต้านมข้างขาวตัดและทำสัยกรรมแล้วเข้าต่อมน้ำเหลือง 3 ต่อม เลาะออกด้วย ให้คีโม 8เข็ม ตอนนี้เข็มที่สองละ ถ้าให้คีโมครบ ฉายแสงต่อ 25 ครั้ง แต่ของพี่ไม่มีตัวรับโฮโมน ไม่ใช่เฮอทู การรักษาจึงให้คีโมกับฉายแสงอย่างเดียวไม่มียาทาน อยากทราบว่าเคสแบบนี้เป็นงัยบ้าง รบกวนคนที่มีประสบการแบบเดียวกันให้ความเข้าใจด้วยคะ

    ตอบลบ
  3. ติดตามบทความคุณหมอมาจากพันทิป เห็นในโปรไฟล หมอบอกว่าจะงดตอบ เสียดายจัง

    ตอบลบ