หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ดาบสองคมของสารต้านอนุมูลอิสระ กับ เรื่องของมะเร็ง

ดาบสองคมของสารต้านอนุมูลอิสระ


ครั้งนี้ผมมีบทความดีๆมาฝาก เป็นบทความที่พูดถึงสารต้านอนุมูลอิสระในด้านต่างๆ มันอาจไม่ใช่พระเอกแสนดีอีกต่อไป มันอาจเป็นผู้ร้าย หรือมันอาจเป็นทั้งพระเอกและผู้ร้ายขึ้นกับบริบทของมัน

บทความนี้ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ซึ่งถือได้ว่ามีความสำคัญสูงมากในวงการแพทย์



         สารอนุมูลอิสระถูกกล่าวถึงกันมานานแล้วว่ามันคือจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคมะเร็งและเป็นตัวเร่งการพัฒนาของมะเร็งที่ก่อตัวขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลในปัจจุบันเริ่มพบว่าสารอนุมูลอิสระเหล่านี้ก็อาจเป็นตัวที่ช่วยยับยั้งการเกิดมะเร็งหรือช่วยชะลอการลุกลามของมะเร็งด้วยเช่นกัน ทำไมข้อมูลมันถึงขัดแย้งกัน อาจเป็นไปได้ว่าบทบาทของสารอนุมูลอิสระมันมีมากกว่าบทผู้ร้ายตามที่เราเข้าใจกันมานาน

        สารอนุมูลอิสระสามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งขึ้นด้วยการเข้าไปเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม หรือ กระบวนการปรกติของเซลล์มห้ผิดปกติไปจนส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการแบ่งตัวและการกลายเป็นมะเร็งในที่สุด คุณสมบัติของสารอนุมูลอิสระในการกระตุ้นให้เกิดมะเร็งนำไปสู่การศึกษาสารต้านอนุมูลอิสระว่าจะสามารถป้องกันหรือยับยั้งมะเร็งในการทดลองในสัตว์และในมนุษย์ได้หรือไม่

        แม้ว่าการทดลองขั้นต้นในหลอดทดลองจะสนับสนุนแนวคิดเหล่านี้ แต่การทดลองในคนกลับไม่พบว่าสารต้านอนุมูลอิสระจะมีประโยชน์อะไรในการป้องกันหรือยับยั้งมะเร็ง ซ้ำร้ายในบางการศึกษาสารต้านอนุมูลอิสระยังอาจเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นให้เกิดมะเร็งในคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูง

       การศึกษาล่าสุดของ Sayin และคณะแสดงให้เห็นว่า สารต้านอนุมูลอิสระ N-acetykcyteine (สารตั้งต้นของกลูต้า) และวิตามิน อี เพิ่มอัตราการเกิดมะเร็งปอดและอัตราตายจากมะเร็งปอดในหนูทดลองที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมในรูปแบบที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดคล้ายในคน ผลร้ายของสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้มีมากขึ้นเมื่อได้รับสารต้านอนุมูลอิสระสูงขึ้น

       ทำไมสารต้านอนุมูลอิสระถึงไม่ช่วยในการป้องกันและยับยั้งมะเร็งอย่างที่เราเชื่อกัน การศึกษาเชิงลึกในด้านกลไกของสารอนุมูลอิสระต่อเซลล์อาจช่วยอธิบายคำตอบของคำถามนี้

      จริงๆแล้วสารอนุมูลอิสระเกิดขึ้นตลอดเวลาในปริมาณน้อยๆจากการหายใจระดับเซลล์แบบใช้ออกซิเจนที่ไมโตคอนเดรีย (ไมโตคอนเดรียเปรียบเสมือนอวัยวะเล็กๆของเซลล์ทำหน้าที่สร้างพลังงานจากสารอาหารที่กินเข้าไป) สารอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะเข้าเปลี่ยนแปลงโปรตีนรอบข้างทำให้เกิดการส่งสัญญานไปสู่หลายปลายทางส่งผลต่อความอยู่รอดของเซลล์ การเจริญเติบโต การพัฒนาของเซลล์ และกระบวนการเมตาบอลิซึม

       จริงๆแล้วเซลล์มะเร็งมีการสร้างสารอนุมูลอิสระมากขึ้นเพื่อช่วยในการพัฒนาของเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตามระดับของสารอนุมูลอิสระที่สูงมากนั้นเป็นอันตรายต่อเซลล์ และการรักษามะเร็งในปัจจุบันไม่ว่าจะฉายแสงหรือเคมีบำบัดหลายชนิด ก็พึ่งพิงสารอนุมูลอิสระในการทำลายเซลล์มะเร็ง

       แล้วเซลล์มะเร็งรอดมาได้อย่างไร เพื่อที่เซลล์มะเร็งจะมีชีวิตท่ามกลางสารอนุมูลอิสระปริมานมาก เซลล์มะเร็งมีการเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระภายในเซลล์เช่นกลูต้าและไธโอเรดอกซิน ซึ่งช่วยให้เซลล์มะเร็งรอดตายจากความเสียหายจากสารอนุมูลอิสระแต่ยังเติบโตและเจริญต่อไปตามผลของสารอนุมูลอิสระที่ไปกระตุ้นเซลล์ หากไม่มีสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้เซลล์มะเร็งก็จะเสื่อมสภาพหรือตายไปในที่สุด






ในรูปแสดงให้เห็นว่าสารอนุมูลอิสระส่งผลทั้งสองทางคือช่วยให้เซลล์ตายลงและทำให้เซลล์รอดชีวิต(คุณสมบัติของมะเร็ง) สารต้านอนุมูลอิสระจากอาหารช่วยยับยั้งการตายของเซลล์ทำให้เซลล์มะเร็งมีชีวิตรอดได้ดีขึ้น

ความรู้และความเข้าใจที่มากขึ้นของสารต้านอนุมูลอิสระอาจนำไปสู่แนวทางการรักษาในอนาคตเช่น
1 การต้านอนุมูลอิสระต้องทำที่ต้นตอ (บริเวณของไมโตคอนเดรีย)
เพราะสารอนุมูลอิสระบริเวณรอบข้างของไมโตคอนเดรียเป็นส่วนสำคัญของการส่งสัญญานการอยู่รอดของเซลล์และการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง นี่อาจช่วยอธิบายว่าสารต้านอนุมูลอิสระทั่วไปที่กินเข้าไปมันไม่ค่อบยได้ผลเพราะมันไม่สามารถเข้าถึงบริเวณเหล่านี้ได้มากพอ นอกจากนี้การที่สารต้านอนุมูลอิสระที่กินเข้าไปอาจไปยับยั้งสารอนุมูลอิสระที่อยู่บริเวณอื่นของเซลล์ยังอาจช่วยให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตได้ดีขึ้นเพราะโปรตีนที่ช่วยการเจริญเติบโตของมะเร็งแท้จริงแล้วถูกยับยั้งด้วยสารอนุมูลอิสระที่อยู่ไกลจากไมโตคอยเดรีย

ข้อมูลสนับสนุนคือ สารต้านอนุมูลอิสระที่มุ่งเป้าสู่ไมโตคอนเดรียสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ดีกว่าสารต้านอนุมูลอิสระทั่วไปๆมาก

2 ยับยั้งการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระของเซลล์
เมื่อเซลล์มะเร็งมีการสร้างสารอนุมูลอิสระมากๆ การยับยั้งการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยให้เกิดความเสียหายและทำลายเซลล์มะเร็ง ปัญหาของวิธีนี้คือ อะไรควรจะเป็นเป้าหมายในการยับยั้งการสร้าง การศึกษาต่อไประหว่างเซลล์ปกติ เซลล์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่เซลล์มะเร็ง และเซลล์มะเร็ง ว่ามีการใช้สารต้านอนุมูลอิสระใดบ้างอาจช่วยนำไปสู่การค้นพบเป้าหมายที่เหมาะสมของการยับยั้งสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งแต่มีผลต่อเซลล์ปกติน้อยที่สุด


รู้อย่างนี้แล้ว ไม่ได้ต้องการให้เลิกสนใจการกินผักและผลไม้นะครับ แต่น่าจะเริ่มคิดถึงหลักการความพอดี ไม่กินอะไรมากจนเกินไป แม้แต่สิ่งที่เชื่อว่าดีก็อาจเป็นปัญหาได้หากคุณกินมากจนเกินไป

ส่วนยาและสารต้านอนุมูลอิสระสังเคราะห์ยิ่งแล้วใหญ่ อย่าเอาตัวเองหรือคนที่รักไปลองอะไรเหล่านี้โดยขาดข้อมูลวิจัยสนับสนุนเลยครับ แทนที่จะช่วยอาจทำร้ายโดยไม่รู้ตัว

1 ความคิดเห็น: